วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การปลูกข้าวแบบพอเพียง

SRI : System of Rice Intensitification


ชาวนา : กระดูกสันหลังชองชาติไทย


การทำนาแบบประณีต ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง เขาทำกันอย่างไร

SRI : System of Rice Intensitification คือ การปลูกข้าวต้นเดียว โดยนักวิจัยข้าวชาวฝรั่งเศส อองรี เดอ โลลานี ที่พัฒนาวิธีการ SRI เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๓๘ ที่ประเทศมาดากัสการ์ ในทวีปแอฟริกา รายละเอียดบทความ ดังนี้

การปลูกข้าวต้นเดียว(SRI)แบบอินทรีย์

เป็นวิธีการจากมาดากัสการ์ ศรีลังกา กัมพูชา สู่การทดลองครั้งสำคัญบนผืนนาไทย การปักเดี่ยว ซึ่งประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพเต็มที่ใน การแตกกอและออกรวง

หลังจากกระเด็นกระดอนอยู่บนถนนลูกรังที่ตัดผ่านทุ่งนาผืนกว้างมาได้ครึ่งชั่วโมง รถกระบะสีน้ำเงินของโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกร (คสป.) ก็มาจอดอยู่ตรงหน้าบ้านไม้หลังใหม่ของรุ่งโรจน์ ขจัดโรคา ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับพิธีขึ้นบ้านใหม่และเตรียมอาหารเลี้ยงญาติมิตรที่มาร่วมงาน

พวกชาวบ้านดูไม่แปลกใจกับการมาเยือนของคนแปลกหน้า บางคนคงเดาออกแล้วด้วยซ้ำว่าเราดั้นด้นมาถึงตำบลทมอของพวกเขาเพื่อตามหา ‘ข้าวอินทรีย์’ ที่ขายดีหนักหนา และเป็นสินค้าส่งออกไปถึงทวีปยุโรป

“ยุโรป” อยู่ห่างจากตำบลทมอกี่หมื่นไมล์ชาวนาอย่างรุ่งโรจน์และพรรคพวกกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ไม่รู้ พวกเขารู้แต่เพียงว่า ข้าวหอมมะลิจากนาของตนนั้นจะถูกส่งไปขายชาวยุโรป ซึ่งส่งใบสั่งซื้อมาไม่ขาดสาย ทั้งยังให้ราคาดีกว่าข้าวที่ปลูกแบบใช้สารเคมีอีกด้วย- -คุ้มค่าเหนื่อยที่เฝ้าลงแรงปรับปรุงดิน ใส่ปุ๋ยคอก ปลูกถั่ว ปลูกต้นโสนหลังเกี่ยวข้าวเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทั้งยังต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว ปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวกันชนเพื่อป้องการสารเคมีจากแปลงนาของเพื่อนบ้าน และปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่นๆ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) มาตลอดหลายปี

ตำนานเกษตรอินทรีย์ของ “กลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติตำบลทมอ” ที่หมู่บ้านโดนเลงใต้ ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อาจไม่เข้มข้นเร้าใจเหมือนเรื่องราวของเกษตรกรที่อื่นๆ ซึ่งผ่านฝันร้ายจากการทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้ามาอย่างโชกโชน เพราะเริ่มต้นขึ้นง่ายๆ จากการที่มีคนมาขอซื้อข้าวพันธุ์เหลืองอ่อน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในตำบลทมอ โดยผู้ซื้อระบุไว้ด้วยว่าต้องการซื้อข้าวเหลืองอ่อนปลอดสารเคมี คือใส่ปุ๋ยเคมีได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่ และห้ามใช้ยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช

อาจเป็นเพราะเกษตรกรของที่นี่บางส่วนไม่นิยมใช้ยาฆ่าหญ้า-ฆ่าแมลงมาแต่เดิม การปลูกข้าวปลอดสารเคมีจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องฝืนความรู้สึกและความเคยชินอยู่บ้างเมื่อต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และหันมาบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดแทน

จากการปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมี พวกเขาก็เริ่มพัฒนามาปลูกข้าวอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ คือเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาดด้วยการสนับสนุนจากโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ (คปส.) ซึ่งทั้งแนะนำเทคนิคขั้นตอนการปลูกข้าวแบบอินทรีย์และจัดการหาตลาดให้

การเพาะปลูกระบบอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มกท. นั้นสอดคล้องกับหลักการที่สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ให้ความหมายไว้ว่า เป็น “ระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศเกษตร” นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมี สารเคมีสังเคราะห์กำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ วิถีเกษตรอินทรีย์จะลดการพึ่งพาปัจจัยผลิตจากภายนอก ขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในตำบลทมอเพิ่มจำนวนจาก 7 รายในปี พ.ศ. 2539 เป็น 170 รายในปัจจุบัน แต่เหตุที่เราต้องเจาะจงมาพบรุ่งโรจน์ ชาวนาวัย 30 ปีที่หมู่บ้านโดนเลงใต้แห่งนี้ก็เพราะเขาเป็นเกษตรกร 1 ใน 3 รายในจังหวัดสุรินทร์ และเป็นรายแรกๆ ของประเทศที่ทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ด้วย “วิธีใหม่” ซึ่งถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากชาวนาในมาดากัสการ์สู่ชาวนาใน 20 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา กัมพูชา และไทย

“พวกชาวบ้านหาว่าผมบ้า เดินผ่านที่นาก็พากันล้อว่าปลูกแบบนี้จะได้กินหรือ?”

รุ่งโรจน์ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาลงมือปลูก “ข้าวต้นเดียว” ท่ามกลางแวดล้อมของเพื่อนบ้านที่มาร่วมยินดี และมีข้าวเปลือกในกระบุงเป็นส่วนหนึ่งของพิธี

ข้าวต้นเดียว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้น” หรือ System of Rice Intensification - SRI

รุ่งโรจน์ ได้ยินเรื่องราวของการทำนาแบบ SRI จากการไปอบรมเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตรเมื่อปีปลายปี 2544 เขากลับมาที่หมู่บ้านพร้อมกับตำราหนึ่งเล่มที่บรรยายหลักการของ SRI ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่อายุของต้นกล้าที่ใช้ การเคลื่อนย้ายต้นกล้ามาปลูก ระยะห่างระหว่างกล้าแต่ละต้น การจัดเรียงรากของต้นข้าวให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไปจนกระทั่งถึงการปล่อยน้ำเข้านา และการจัดการกับวัชพืช

เดือนมิถุนายนปี 2546 หลังจากอ่านตำราอย่างละเอียด ปรึกษากับพ่อและเพื่อนจนเริ่มมั่นใจ รุ่งโรจน์ กับพ่อก็ตัดสินใจลงมือปลูกข้าวแบบ SRI ในที่นาประมาณ 2 ไร่

“ผมลองทำเพราะอยากได้ผลผลิตเยอะๆ เหมือนกับชาวนาจากกัมพูชาที่เล่าให้ฟังว่าการปลูกข้าวต้นเดียวทำให้เขาได้ผลผลิตตั้ง 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเราใส่ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแล้วยังได้แค่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่” ชายหนุ่มพูดด้วยสำเนียงควบกล้ำชัดตามธรรมชาติของคนใช้ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน แล้วตบท้ายว่า “ผมอยากรู้จริงๆ ว่าไอ้ข้าวต้นเดียวนี่มันให้ผลผลิตเยอะจริงอย่างที่เขาพูดหรือไม่”

ปัจจุบันวิธีการของ SRI กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรเอง แต่เหตุที่ยังมีชาวนาลงมือทำกันน้อยอยู่นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SRI วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเทคนิคนี้ “ฟังดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้”

คู่มือการปลูกข้าว SRI ฉบับภาษาไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยทีมงานส่งเสริมเกษตรสถาบันแมคเคน (เชียงใหม่) เมื่อเดือนตุลาคม 2544 แนะนำการปลูกข้าวแบบนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“SRI เริ่มจากหลักปรัชญาที่ว่า ต้นข้าวต้องได้รับความเคารพและจุนเจือประหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนี้จะเปล่งออกมาก็ต่อเมื่อเราอำนวยสภาวะที่ดีที่สุดที่เอื้อต่อการเติบโตของพืช หากเราช่วยให้พืชเจริญเติบโตด้วยหนทางใหม่ที่ดีกว่า พืชก็จะตอบแทนความพยายามนั้นกลับคืนเป็นหลายเท่า เราจะไม่ปฏิบัติต่อพืชเยี่ยงเครื่องจักรน้อยๆ ที่ถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของตนเอง วิธีการทำนาที่เกษตรกรทั่วโลกปฏิบัติกันมานับร้อยๆ ปีได้ทำให้ศักยภาพตามธรรมชาติของต้นข้าวลดลง วิธี SRI นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเดิมๆ เพื่อนำศักยภาพสำคัญในต้นข้าวออกมาใช้เพิ่มผล"

เพื่อให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพในการออกรวงได้เต็มที่ รุ่งโรจน์เริ่มต้นด้วยการเตรียมดินด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเช่นเดียวกับการปลูกข้าวอินทรีย์ จากนั้นสูบน้ำเข้านาพอให้ดินเป็นโคลน จากนั้นก็ไถแปรแล้วคราดให้เรียบเสมอกันทั้งแปลง เช้าวันรุ่งขึ้นจึงนำต้นกล้าอายุ 8 วันที่เตรียมเอาไว้มาปักดำทีละต้น โดยปลูกห่างกันที่ระยะ 40X40 เซ็นติเมตร

“ต้นกล้าอายุ 8 วัน เป็นช่วงที่มีพลังมากมายเหมือนกับวัยเด็ก ต้นกล้าที่อายุเยอะจะไม่ค่อยแตกกอ เวลาย้ายต้นกล้ามาลงแปลงต้องแซะอย่างประณีต และต้องให้มีดินติดรากมาด้วย เมื่อแซะมาแล้วต้องปลูกให้หมดภายใน 20 นาที เพราะว่าถ้าทิ้งไว้นานกว่านี้กล้าจะเหี่ยวเฉาและอารมณ์ไม่ดี ปักดำทีละต้น โดยรากต้องอยู่ลึกไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร และจัดเรียงรากให้แผ่ไปตามแนวนอนในทิศทางเดียวกัน” รุ่งโรจน์อธิบายพร้อมสาธิตการจัดเรียงรากของต้นกล้าด้วยมือเปล่าให้ดู “พอปักดำเสร็จมองไม่เห็นต้นข้าวในนาเลย ใครเดินผ่านมาเห็นเขาก็หัวเราะเยาะว่าปลูกอย่างนี้สงสัยจะไม่ได้กิน…”

การปักต้นกล้าทีละต้นนี่เองที่เป็นหัวใจของ SRI แถมยังเป็นที่มาของชื่อ ข้าวต้นเดียว หรือ ‘ปักเดี่ยว’ ที่รุ่งโรจน์และชาวบ้านโดนเลงใต้ตั้งชื่อให้อีกด้วย

อองรี เดอ โลลานี ชาวฝรั่งเศสที่พัฒนาวิธีการ SRI ขึ้นระหว่างที่เขาทำงานร่วมกับชาวนาในมาดากัสการ ์ระหว่างปี 2504-2538 บอกว่า การปักต้นกล้าทีละหลายต้นอย่างที่ชาวนาทั่วโลก ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้จะทำให้ต้นข้าวแย่งอาหาร และแสงแดดกัน ทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่และออกรวงน้อย ดังนั้นแม้ว่าวิธีการปลูกข้าวแบบเดิมนี้ จะช่วยเลี้ยงประชาชนนับพันล้านคนมานานนับศตวรรษ แต่เกษตรกรจำเป็นต้องไตร่ตรองถึงการปลูกข้าวด้วยวิธีใหม่ที่ต่างออกไป เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มและไม่ทำลายดิน น้ำ อากาศเหมือนกับการใช้สารเคมีเร่งผลผลิต

รุ่งโรจน์ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการปลูกข้าว SRI กับการปลูกข้าวทั่วไปว่า “ปกติเราใช้ต้นกล้าอายุ 30-40 วัน พอถอนกล้ามาแล้วก็ไม่ต้องรีบปลูกให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง บางทีแช่น้ำไว้จนเกือบเน่าแล้วค่อยปักดำ เวลาย้ายกล้าไม่ต้องระมัดระวังขนาดนี้ ถ้ามีดินติดรากมา เราก็เอาต้นกล้าฟาดกับหน้าแข้งเพื่อให้ดินหลุด ซึ่งการปลูกแบบ SRI ห้ามเด็ดขาด เวลาปลูกก็ปักกล้าลงไปตรงๆ ทีละหลายๆ ต้น ไม่ต้องวัดระยะห่าง ไม่ต้องจัดเรียงรากให้เป็นแนว”

ตามคู่มือการปลูกแบบ SRI คำอธิบายสำหรับขั้นตอนอันละเอียดอ่อนเหล่านี้มีว่า ต้นกล้าอ่อนๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางมาก หากได้รับการสัมผัสเบาๆ การเติบโตจะไม่ชะงักและใบไม่เหลือง การฟาดต้นกล้าเพื่อให้ดินหลุดก็เหมือนกับการฟาดหัวเด็กนั่นเอง การจัดตำแหน่งรากให้อยู่ในแนวนอนจะทำให้ปลายรากชอนไชลงดินได้ง่ายและเป็นการประหยัดพลังงานของข้าวทำให้ข้าวตั้งตัวได้เร็ว, การปลูกกล้าให้เสร็จภายใน 15-30 นาทีหลังจากถอนต้นกล้ามาก็เพื่อช่วยลดความเครียดให้กับต้นข้าว, ส่วนการปักต้นกล้าให้ห่างกัน 40x40 เซ็นติเมตร จะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและทำให้ข้าวแตกกอได้ใหญ่กว่า

ความยากของ SRI ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการเตรียมกล้าและปักดำเท่านั้น พ่อศิริชัย ชุ่มมีชัย หนุ่มใหญ่อีกรายหนึ่งในตำบลทมอ ที่สมัครใจทดลองการปลูกข้าวต้นเดียวพร้อมกับรุ่งโรจน์เมื่อปีก่อนบอกว่า การจัดการน้ำและ วัชพืชเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวนาต้องเตรียมรับมือให้ดี

แทนที่จะปล่อยน้ำให้ขังในนาช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโตเพื่อป้องกันวัชพืชอย่างที่ชาวนาทำกันอยู่ทุกวันนี้ ระบบการปลูกข้าวต้นเดียวแนะนำให้เกษตรกรปล่อยให้นาแห้งเป็นช่วงๆ เพื่อให้ต้นข้าวได้รับออกซิเจนมากขึ้นและได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มผลผลิต แต่การปล่อยให้นาแห้งนั้นจะทำให้มีวัชพืชมาก ดังนั้นเกษตรกรจะต้องขยันถอนวัชพืช ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องพร้อมที่จะเสียแรงงานมากขึ้นและใช้เวลาอยู่ในนาข้าวมากขึ้นกว่าเดิม

“การปลูกแบบปักเดี่ยวนี่ ถ้าใส่น้ำเยอะข้าวก็ไม่แตกกอ แต่ถ้าปล่อยให้ดินแห้งหญ้ามันก็ขึ้นรกอีก” พ่อศิริชัย เล่าประสบการณ์ “แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ ที่นาเราอยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยแต่ฝนฟ้า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะควบคุมน้ำเข้า-ออกที่นาได้ตามสูตรที่เขากำหนด”

ลำพังการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกเอาการอยู่แล้วสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เคยชินกับการหว่านปุ๋ย-พ่นยาในนาข้าว แต่ SRI หรือที่บางคนเรียกว่า “การปลูกข้าวแบบมาลากาซี” ดูเหมือนจะแปลกยิ่งกว่า เพราะการปักดำต้นกล้าทีละต้นและการปล่อยที่นาให้แห้งตามกระบวนการของ SRI นั้นเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึก-ฝืนความเคยชินของชาวนาอย่างรุนแรง

แต่ชาวนานักทดลองอย่าง พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ก็ยินดีจะฝืนและเสียแรงเสียเวลาไปกับการดูแลแปลงนา SRI

“เราจะปักใจเชื่อตามหนังสือหรือที่คนอื่นเล่าไม่ได้ ถ้าไม่ลองทำดูก็ไม่รู้ว่าการปลูกข้าวแบบนี้จะให้ผลผลิตเป็นพันกิโลต่อไร่จริงหรือเปล่า เราอยากรู้ว่าที่ดินตรงนี้จะปลูกข้าวต้นเดียวได้หรือไม่” พ่อศิริชัยบอกเหตุผลที่แกยอมถูกเพื่อนบ้านหัวเราะเยาะ และทะเลาะกับภรรยาซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทดลอง

เราไปถึงหมู่บ้านโดนเลงใต้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547 ที่นาของ พ่อศิริชัย และ รุ่งโรจน์ ไม่มี “ข้าวต้นเดียว” ให้เห็น เพราะถูกเก็บเกี่ยวไปหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม และที่นาก็ถูกแทนที่ด้วยพืชหลังนา เช่น ถั่ว งา ตามวิถีการทำเกษตรอินทรีย์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็นับว่าเป็นจังหวะดี เพราะตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานั้น พวกเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การปลูกวิธี SRI มาได้ชุดใหญ่ และพร้อมจะบอกเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง ถึงความยากง่ายและปัญหาที่พบเจอระหว่างการทดลองครั้งสำคัญ

และต่อไปนี้คือผลการทดลองของชาวนาทั้งสอง

รุ่งโรจน์ : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 2 ไร่ ปักต้นกล้าประมาณ 500 ต้น ได้ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นกล้า 1 ต้นแตกกอได้ถึง 40 ต้น ข้าวหนึ่งรวงมีเมล็ดข้าวประมาณ 230 เมล็ด (ข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมี 170-180 เมล็ดต่อหนึ่งรวง)

พ่อศิริชัย : ปลูกข้าวแบบ SRI ในพื้นที่ 1 งาน ปักต้นกล้าไปประมาณ 100 กว่าต้น ได้ผลผลิต 160 กิโลกรัม (4 กระสอบ) ต้นกล้า 1 ต้น แตกกอได้มากที่สุดถึง 44 ต้น (ข้าวอินทรีย์ทั่วไปจะแตกกอได้ 5-10 ต้นเท่านั้น)

ต้นข้าวที่ปลูกแบบ SRI ของทั้งสองคนเจริญเติบโตเร็วกว่าข้าวทั่วไป คือ ตั้งต้นได้ภายใน 3 วันหลังจากปักดำ นอกจากนี้ยังแตกเป็นกอใหญ่ ออกรวงเยอะ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง บางต้นสูงกว่า 2 เมตร รากแผ่ขยายเป็นวงกว้างทำให้สามารถหาอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้มากกว่า

ถึงตอนนี้พวกชาวบ้านเริ่มตื่นเต้นสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่นาของรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัย หลายคนบอกกับพวกเขาว่า “ไม่น่าเชื่อ“

ชาวนาทั้งสองสรุปว่า วิธี SRI ให้ผลผลิตสูงอย่างเห็นได้ชัดจริง แม้ยังไม่มากถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างที่บันทึกเอาไว้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดินในตำบลทมอไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์และไม่เรียบสม่ำเสมอ การทำนายังต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำในนาได้ นอกจากนั้นเกษตรกรไม่มีเวลาดูแลนา-กำจัดวัชพืชได้เต็มที่ เพราะต้องทำนาอินทรีย์ควบคู่กันไปด้วย แต่ผลผลิตระดับ 700 กว่ากิโลกรัมถือว่าน่าจะพอให้ชาวนายิ้มออก และน่าจะถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นสำหรับความพยายามที่จะต่อยอดการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในแง่ของการเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย หรือใช้สารเคมีที่เป็นภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“ถึงอย่างไรผมก็จะลองปลูกอีกรอบ” พ่อศิริชัยประกาศ “ทดลองดูว่าปลูกช่วงเวลาไหน ระยะห่างแค่ไหนถึงจะดีที่สุด เพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย อย่างน้อยก็เป็นการคัดพันธุ์ข้าวไปในตัว” นอกเหนือจากชาวบ้านโดนเลงใต้ ขณะนี้ในประเทศไทยมีการทดลองปลูกข้าวแบบ SRI อย่างน้อยอีก 3 แห่ง คือที่ตำบลสำโรง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับ อนุวัฒน์ จันทร์เขต หรือ “หนุ่ม” เจ้าหน้าที่ คปส. ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยรุ่งโรจน์และพ่อศิริชัยเก็บข้อมูลการทำนา SRI ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปลูกข้าวต้นเดียวแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นี่ เพราะที่นามีความสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ มีปัญหาเรื่องน้ำ และเกษตรกรมีที่นามากทำให้ดูแลกำจัดวัชพืชได้ไม่ทั่วถึง เขาคิดว่าวิธีนี้น่าจะเหมาะกับคนที่มีที่นาเล็กๆ ขนาด 3-5 ไร่เท่านั้น

ถึงกระนั้นหนุ่มก็ยืนยันว่า คปส. จะเดินหน้าส่งเสริมการปลูกข้าวแบบ SRI ต่อไป เพราะการปลูกข้าวต้นเดียวนี้มีประโยชน์มหาศาลต่อการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา

“การปลูกข้าวทีละต้นทำให้เราเห็นได้ชัดว่าต้นไหนไม่ใช่ข้าวมะลิ 105 หรือเป็นข้าวเมล็ดลีบที่ปะปนมา เพราะดูจากเมล็ดข้าวเราไม่มีทางรู้ ต่อเมื่อข้าวแตกกอขึ้นมาเราถึงจะรู้ว่าเมล็ดข้าวนั้นเป็นพันธุ์อะไร ถ้าเป็นพันธุ์อื่นเราก็ถอนทิ้งไป เก็บแต่ต้นที่เป็นพันธุ์แท้เอาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์ข้าวลงได้มาก” หนุ่มอธิบาย

เขาบอกว่าในอนาคต คปส. จะตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวเพื่อเก็บข้าวหอมมะลิพันธุ์แท้ที่มีคุณภาพดีไว้ให้สมาชิก โดยยินดีจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดมาจากแปลง SRI ของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรทดลองทำนาแนวใหม่นี้กันมากขึ้น

หน้านาปีนี้ นอกจากรุ่งโรจน์กับพ่อศิริชัยแล้ว สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์อีกอย่างน้อยสองราย คือ มิตร บุญทวี และภาคภูมิ อินทร์แป้น ประกาศว่าจะหาแปลงนาที่เหมาะๆ เพื่อทดลองปลูกข้าวต้นเดียวดูบ้าง

เรื่องที่ต้องทำงานหนักขึ้น ปรับเปลี่ยนความเชื่อความเคยชินในการทำนา หรือการถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากเพื่อนบ้านนั้น พวกเขารับมือได้สบายๆ เพราะเคยผ่านมันมาหมดแล้ว เมื่อครั้งที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการทำนา “เคมี” มาเป็น “อินทรีย์”

บางทีชาวนากลุ่มนี้อาจเป็นผู้ค้นพบวิธีการปลูกข้าว SRI แบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับเกษตรกรและนาข้าวในประเทศไทย--ทำให้วิธีการทำนาที่ “ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นจริง” นี้ได้รับการยอมรับแพร่หลายเหมือนอย่างที่ “เกษตรอินทรีย์” เคยทำสำเร็จมาแล้วก็เป็นได้

ที่สำคัญ SRI อาจเป็นหนทางในการเพิ่มผลผลิตข้าวที่ชาวนามีโอกาสเป็นผู้ทดลอง และเลือกใช้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงของบริษัทข้ามชาติ อย่างการดัดแปรพันธุกรรมที่กำลังจู่โจมประเทศเกษตรกรรมอย่างหนักอยู่ในวันนี้

บทสรุป : การปลูกข้าวต้นเดี่ยว

http://www.gotoknow.org/posts/527238

ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยว (System of Rice Intensification, SRI)

ประวัติความเป็นมา

ระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวเริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504-2538 โดยนายอองรี เดอ โลลานีกับเกษตรกรในมาดากัสการ์ เรียกว่า “การปลูกข้าวแบบมาลากาซี”  ต่อมาขยายไปประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นต้น ในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2547 สถาบันแมคเคนเพื่อฟื้นฟูสภาพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยอาจารย์เคล้าซ์ ปรินซ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย  ปัจจุบันได้ขยายไปหลายจังหวัด เช่น น่าน สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร สุพรรณบุรี นครราชสีมา สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์เริ่มปลูกในปีเพาะปลูก 2553
  ข้อมูลของการปลุกข้าวต้นเดี่ยว
1.  ใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูก ประมาณ 1-1.5 กก./ไร่
2.  ใช้กล้าอายุ 8-14 วัน  
3.  ขังน้ำให้สูงเพียง 1-2 นิ้ว และมีการปล่อยให้ดินแห้งบ้างสลับกันไป
4.  ดำห่าง 30-40 ซม. แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน
5.  ข้าวแต่ละต้นสามารถแตกกอได้ 30-50 ต้นต่อกอ
ประโยชน์ของการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
1.  ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
2.  ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาปกติ
3.  ประหยัดพื้นที่ในการตกกล้า
4.  การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอข้าว
วิธีการปลูก   คือ ปลูกข้าว 1 ต้นต่อ 1 หลุม โดยใช้กล้าอายุ 8 – 12 วัน หรือ กล้ามีใบประมาณ 2 ใบ ระยะปลูก 20 x 20 เซนติเมตร มีการควบคุมการให้น้ำแบบสลับแห้งและเปียกตั้งแต่กล้าปลูกถึงออกรวง โดยปล่อยน้ำท่วมขังประมาณ 2 เซนติเมตร หลังต้นข้าวออกรวงจนกระทั่ง 14 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวจึงปล่อยน้ำทิ้งข้าวต้นเดี่ยวจะแตกกอถึง 60 – 65 ตัน หรือเฉลี่ย 50 ต้น สามารถเพิ่มผลผลิตจาก 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 720 กิโลกรัมต่อไร่ 


การปลูกข้าวนั้นย่อมมีปัญหาเกี่ยวกับเพลี้ยต่างๆ ต้องใช้เชื้อราบิวเวอเรียมายับยั้งหาซื้อได้ที่นี่

http://www.nanagarden.com/A2-137610-4.html

ตัวอย่างของกลุ่มชาวนาคนรุ่นใหม่ คือ ชาวนาวันหยุด

สัมภาษณ์สด : คุณสุภชัย ปิติวุฒิ
http://www.youtube.com/watch?v=LgqOLq294gU
Re-Run สัมภาษณ์สด "ชาวนาวันหยุด-แกล้งข้าว"
ช่อง Farm Channel ช่วง ชุมชนคนเกษตร เวลา 10.00-11.00 น.วันที่ 6 มีนาคม 2556

ปฏิทินกำหนดการทำนาในรอบ ๑ ฤดูกาล

การเตรียมแปลงนา

http://www.youtube.com/watch?v=FdyfPnm5bwY

แหนแดงในนาข้าวช่วยเพิ่มปุ๋ย และคุมหญ้า

http://www.youtube.com/watch?v=oDTIVeh2nP0

การไถนาให้ลึก

http://www.youtube.com/watch?v=14bD2Y30yR0

เครื่องมือตีตารางปลูกข้าว

http://www.youtube.com/watch?v=sNidNU9ThHQ

เครื่องมือโรยแถวข้าวงอก




ท่อแกล้งข้าว

http://www.youtube.com/watch?v=oDTIVeh2nP0

เครื่องพรวนหญ้าในนาข้าว

http://www.youtube.com/watch?v=hV0r0Vkw0Ak
http://www.youtube.com/watch?v=yTrDZ7rTxIU&list=TLVXOhFNyNhzA

เพาะกล้าต้นเดียว


เครื่องมือตีตารางปลูกข้าว

http://www.youtube.com/watch?v=8Jal_L9CWNc

Rice nursery pot for Roller Planting Maker 
-ผ่านครับ น้ำหนักเบา (7กก.)คล่องตัว สร้างรอยจุดตัด ชัดเจน ถอดประกอบง่าย 
-จัดระเบียบการปลูกข้าว จากแปลงนาสู่การพัฒนาประเทศ

จาก ปัญหาที่พบรอบที่แล้วจากคราดปลูก เครือข่ายชาวนาวันหยุด ไม่หยุดนิ่งปรึกษาผ่านระบบSocial Media คุณปัญญา ขันทอง /ครูอาชีวะวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด /ลูกศิษย์ออกแบบอุตสาหกรรม ออกมาเป็น Drawing ในกระดาษ ปรึกษา ชาวนาช่างฝีมือ ถอดแบบ ส่งมาให้ชาวนามืออาชีพ นางลือ ทดลองใช้งาน (lead time~20วัน)

ชาวนาวันหยุด: ลงแขกเพาะกล้า

http://www.youtube.com/watch?v=AmQzBEOZoCA&list=TLVXOhFNyNhzA

การใช้แหนแดงและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต (วิธีแบบ มทส.)

ข้อมูลโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด, รศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง, นางสาวยุพยงค์ จันทร์ขำ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

การปลูกข้าวในระบบประณีต (System of Rice Intensification; SRI) คือ การจัดการพืช การจัดการดิน และการจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งการผลิตข้าวในระบบของ มทส. เป็นการประยุกต์และปรับปรุงมาจากวิธีการผลิตข้าวในระบบ SRI ของ Dr.Norman Uphoff และคณะ จึงเน้นเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ แหนแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำขัง ประมาณ 2-5 ซ.ม. เพื่อให้สามารถเลี้ยงแหนแดงได้

แหนแดง (Azolla) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่น มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ

ความเหมาะสมของแหนแดงในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว

- แหนแดงสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณได้รวดเร็ว

- สามารถเลี้ยงแหนแดงได้ให้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีไนโตรเจนต่ำ

- แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง (3-5%)

- แหนแดงสลายตัวได้รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นในการผลิตปุ๋ยให้กับข้าว

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bioorganic Fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพพร้อมๆกัน และนำมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบนี้จะต่างจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยในระบบนี้จะใช้อุณหภูมิในระหว่างกระบวนการหมักสูงมาก จนสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์

ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้ทำการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนและผลิตออกซินได้ นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราปฏิปักษ์ ไตรโคเคอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และยับยั้งการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในพืชใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย

ขั้นตอนการผลิตข้าวโดยการใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต

1. การเพาะกล้าสำหรับการผลิตข้าวในระบบ SRI

จากผลการทดลองในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะกล้าดังต่อไปนี้

1. ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กบรรจุด้วยขี้เถ้าแกลบที่เปียกชื้นจากการรดน้ำให้อยู่ตัว จากนั้นทำการเกลี่ยหน้าให้เรียบ (สามารถเพาะในแปลงขนาดเล็กได้)

2.โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ช.ม. และห่อผ้า 1-2 คืน จนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (เช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับตกกล้า) โดยทำการโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ

3. โรยขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ทำการรดน้ำให้ชุ่ม

4. วางกระบะกล้าไว้ในที่ร่ม เช่นในโรงเรือนเพาะชำ ใต้หลังคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ เมื่ออายุต้นกล้าได้ 5 วัน ให้นำออกตากแดดและเมื่ออายุได้ 8 วัน สามารถนำไปปลูก ในแปลงปลูกได้ ไม่ควรให้อายุกล้าเกิน 15 วัน เพราะรากกล้าจะยาวมากเกินไป การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะทำให้สามารถถอนกล้าไปปลูกได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถยำไปได้ทั้งกระบะและวางไว้ใกล้ๆ กลับแปลงปลูก ทำให้ไม่เสียเวลาในการถอน และเคลื่อนย้าย แต่ถ้าเพาะในแปลงเพาะกล้าให้หว่านเมล็ดบางๆ

5. พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กก.

2. การถอนกล้า และการขนย้ายต้นกล้า

- ควรทำการย้ายปลูกกล้าที่อายุประมาณ 8-15 วัน และยังคงให้เมล็ดข้าวติดอยู่

- ในกรณีเพาะในถาดสามารถยกถาดไปยังแปลงปลูกได้เลย

- กรณีเพาะกล้าในแปลงควรทำการถอนทีละน้อยย้ายปลูกทันที

- ควรทำการปักดำกล้าที่ถอนให้แล้วเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

- ไม่ควรล้างรากหรือให้รากกล้าแห้งก่อนทำการปักดำ

3. การเตรียมแปลงปลูก และการปลูกข้าวต้นเดี่ยว

1. ปล่อยน้ำเข้าแปลงทิ้งไว้ 1 คืน ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ

2. ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน โดยให้ระดับน้ำลึก 3-5 ซ.ม.

3. ทำการหว่านแหนแดง ประมาณ 1 กก./พื้นที่ 10 ตร.ม. ทิ้งไว้ 7-10 วัน

4. หลังจาก 7-10 วัน ให้ไถกลบแหนแดงลงแปลงปลูกและทำให้ดินมีลักษณะเป็นโคลน

5.นำเครื่องมือ ซึ่งทำจากท่อ PVC ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นส้นตรงในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่แปลงปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส

6. นำข้างที่เพาะไว้ในกระบะเพาะ มาปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยม โดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร

ต้นข้าวจะต้องตั้งฉากกับแนวราก เป็นรูปตัว “L” (L-shape) และหลังจากการทำการปักดำ 1-2 วัน ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกในระดับน้ำลึกประมาณ 2 ซ.ม. และทำการปล่อยแหนแดงให้ทั่วแปลงในอัตรา 10% ของพื้นที่

4. การดูแลรักษาแหนแดง และระดับน้ำในแปลงปลูก

- ทำการหว่านแหนแดงเพิ่มหลังจากการปักดำ 1-2 (หลังการใส่น้ำในแปลงข้าว)

- ควรให้ระดับสูงประมาณ 2 ซ.ม.ในครั้งแรก เพื่อป้องกันวัชพืชและการเพิ่มกระจายตัวของแหนแดงจากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 ซ.ม.

- หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน



สรุปข้อดีของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวร่วมกับแหนแดงและปุยอินทรีย์ชีวภาพ

1. ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย

2. สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้แหนแดงแทน

3. สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน

4. เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจุลินทรีย์กกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต

5. ประหยัดน้ำ

6. กำจัดวัชพืชและข้าวปนได้ง่าย

7. อายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน

8.จำนวนการแตกกอสงกว่าปกติ 2-3 เท่า

9.เปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากข้าวลีบน้อยกว่าวิธีการผลิตแบบปกติ

10. ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70%



ลงแขกดำนาต้นเดียว แบบตีตาราง