วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การศึกษาบุญนิยม


เด็กสัมมาสิกขาสีมาอโศก กับห้องเรียนธรรมชาติในป่าของชุมชนบุญนิยมสีมา

         หลักการจัดการศึกษาของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า วิชชา จรณะสัมปัณโณ  คือ ให้มีความรู้ดี และประพฤติดี ให้รู้อะไรเป็นบุญควรทำ อะไรเป็นบาปต้องงดเว้น กำหนดไว้ในหลักศีล ๕ หรือเบญจศีล และเบญจธรรม เป็นขั้นพื้นฐาน และอีกหลากหลายคำสอนในพระธรรม
ส่วนการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีนักปราชญ์ เช่น ท่านพุทธทาส กล่าวว่า การศึกษาของเมืองไทย เหมือนหมาหางด้วนคือ มีแต่ความรู้ แต่ขาดศีลธรรม จริยธรรม  หัวโตสมองโต แต่ทำงานไม่เป็น พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ กล่าวว่า การศึกษาที่ไม่ลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้
ดังนั้นผลผลิตของการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง ควรเป็นดังนี้
๑.       ลดความเห็นแก่ตัว หรือลดกิเลส
๒.     มีจิตสาธารณะมากขึ้น เสียสละมากขึ้น
๓.      เป็นการจัดการศึกษาเพื่อช่วยพัฒนาคน ให้ไปช่วยคนอื่นอีกต่อๆไป ขยายไปเรื่อยๆ ให้มีคนดีที่ชาติต้องการมากขึ้นๆ ทั้งประเทศ
ถาม : แล้วเราจะจัดการศึกษาอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ มีผลผลิตของการจัดการศึกษาที่ควรจะเป็น
ตอบ : ต้องจัดการศึกษาแบบบุญนิยม
ถาม : การศึกษาแบบบุญนิยม มีลักษณะเด่นอย่างไร
ตอบ :
๑.       เปิดโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา
๒.     เป็นการจัดการศึกษาที่ตรงกันข้ามกับ การศึกษาแบบ ทุนนิยม คนรวยมีสิทธิ์เรียนสูง คนจนหมดสิทธิ์
๓.      ไม่มีเงินเป็นตัวตั้ง หรือตัวกำหนดใดๆ ไม่ต้องมีเงินงบประมาณ
๔.      เป็นการจัดการศึกษาแบบ เรียนฟรี กินอยู่ ฟรี และทำงานฟรี
๕.      ผู้สอนไม่มีรายได้ หรือเงินเดือน คือ สอนฟรี
ถาม : การศึกษาแบบบุญนิยม มีตัวอย่างให้ศึกษาดูได้ที่ใดบ้าง
ตอบ : ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก
                คำถามและคำตอบ ที่กล่าวมานี้ เป็นการนำท่านสู่ บทความเรื่อง การศึกษาบุญนิยมดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน แต่ชาวบุญนิยมในสังคมชาวอโศก มีจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างนี้จริงๆ เราจะทำในสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำได้ยากนั้น คือทางออกของปัญหาการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
                ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก โครงสร้างของชุมชนจะประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน จะเป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันเสียสละ มีโครงสร้างประชากรทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้ชรา ไม่แปลกแยกเหมือนหมู่บ้านในชนบททั่วๆไปของเมืองไทยในยุคนี้  ที่มีแต่ผู้ชราและเด็กเฝ้าบ้าน ส่วนวัยแรงงานเข้าไปหาเงินอยู่ในเมืองใหญ่ หรือไปหาเงินขายแรงงานอยู่ต่างประเทศ แล้วก็ส่งเงินกลับไปให้ผู้ที่อยู่ทางบ้าน ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ก็จะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน ทำให้เกิดปัญหาจราจร เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตายครั้งละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ศพ นี้คือภาพของความล้มเหลวของการจัดการศึกษาของเมืองไทย ที่มีเงินเป็นตัวตั้ง จัดการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเงินงบประมาณสูงที่สุดของประเทศ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษาที่ล้มเหลวได้ มีเรื่องอื้อฉาวทุจริตในวงการราชการ เช่น ทุจริตการสอบเข้าตำรวจ ทุจริตการสอบบรรจุครู ทุจริตการสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ อบต. เป็นต้น
เราเรียนในสิ่งที่จำเป็นของชีวิต คือการทำนา


นี่คือผลงานของการศึกษา ข้าวคืออาหารของมนุษย์
        
           ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณโภคี เมื่อเข้ามาสัมผัสชีวิตจริงของชุมชนบุญนิยมชาวอโศกแล้ว ได้ฟังคำว่า สาธารณโภคี รู้สึกคุ้นหู แต่ก็ยังแปลก  สาธารณโภคี มีอุดมคติอย่างแรงกล้า ๔ ข้อ คือ
๑.       แรงงานฟรี
๒.     ปลอดหนี้
๓.      ไม่มีดอกเบี้ย
๔.      เฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ
โดยผู้มาอยู่จะต้องทำงานให้ส่วนกลาง ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือน กินอยู่กับส่วนกลาง ช่วยกันทำงานตามความสามารถ ตามความถนัด เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยช่วยกันดูแลรักษา ความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย ส่วนกลางของชุมชนจะดำเนินการให้ตามฐานะของสมาชิกในชุมชนซึ่งมีหลายระดับ และถ้าเป็นผู้มาอยู่ใหม่จะพิจารณาการดูแลตามความเหมาะสม ค่าตอบแทนที่สูงค่ากว่าเงินทอง ที่มอบให้แต่ละคนนั้น คือ การลดละกิเลสในตน ฝึกฝนให้นำไปสู่ความพ้นทุกข์นั้นๆ ตามขั้นตอน
ครู หรือ คุรุ ผู้สอนต้องตั้งตนให้สมควรก่อน ทำได้ก่อนจึงสอนเด็ก
ภาพผลผลิตกล้วยหอม ที่ครูได้ทดลองปลูกให้เด็กได้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นสื่อการสอน

                การศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก เป็นการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชุน เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส มุ่งสู่โลกุตตระ จัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
  “ศีลเด่น เป็นงาน ชำนาญวิชา คือ ปรัชญาการศึกษาระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
  “ศีลเข้ม เก่งงาน สืบสานวิชา คือ ปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา
                ระเบียบการรับสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กำหนดรับสมัครประมาณวันที่ ๗ เมษายน มีขั้นตอน ดังนี้
๑.       ในระดับประถมศึกษา ผู้ปกครองต้องเข้ามาอยู่ประจำในชุมชนด้วย โดยเลือกเข้ามาทำงานในฐานงานต่างๆ กินอยู่ฟรี เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองเนื่องจากเด็กนักเรียนยังดูแลตนเองไม่ได้
๒.     นำบุตรหลานเข้าไปในชุมชนของชาวอโศก ฟังธรรม รับประทานอาหารมังสวิรัติร่วมกัน พักค้างคืน ฝึกเข้าฐานงานต่างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย
๓.      ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต้องมีความสนใจในระบบการศึกษาแบบบุญนิยม
๔.      สมัครเข้าค่าย อบรมยุวพุทธ เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน เพื่อดูตัวนักเรียน
๕.      สอบข้อเขียนในวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
๖.       สอบสัมภาษณ์เด็ก และผู้ปกครอง โดยสมณะ
๗.      คุรุและสมณะร่วมประชุมประเมินผลการคัดเลือกเด็ก เพื่อรับเข้าเรียน และประกาศผล
๘.      มอบตัวเข้าเรียน และทำพิธีรับชุดนักเรียนสัมมาสิกขาฟรี
๙.       ไม่รับย้ายนักเรียนจากระบบการศึกษาทั่วไป ถ้าต้องการมาเรียนการศึกษาแบบบุญนิยมต้องเริ่มต้นใหม่ ในชั้น ม.๑
                ระเบียบการรับสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก ในระดับอุดมศึกษา มีขั้นตอน ดังนี้
๑.       เป็นศิษย์เก่านักเรียนสัมมาสิกขา จบชั้น ม.๖
๒.     ถ้าไม่ใช่ศิษย์เก่าต้องเข้ามาศึกษาวิถีชีวิต อยู่ในชุมชนเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๑ ปี
เด็กนักเรียน ร.ร.บ้านหนองระเวียง อ.เมือง จ.นม. มาศึกษาดูงาน  เมื่อ ๑๙ พ.ย.๕๔

ไม่มีความคิดเห็น: