วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

การวางระบบน้ำกสิกรรม


สระน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อภูมิทัศน์และกสิกรรมภายในบ้าน
สถานที่ : ๑๔๕ หมู่ ๖ บ้านพะเนา ต.พะเนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๒,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าวัสดุ แรงงานก่อสร้างด้วยตนเอง
ความจุน้ำ ๒๐ คิวเส้นผ่าศูนย์กลางสระ ๘ เมตร เส้นรอบวงขอบสระ ๒๔ เมตร ส่วนลึกที่สุด ๑.๘๐ เมตร
แหล่งที่มาของน้ำได้จากน้ำฝนชายคาบ้าน และน้ำบาดาลใต้ดินลึก ๓๐ เมตร มีน้ำใช้ได้ตลอดปี

"การกสิกรรมสำคัญที่น้ำ" เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ

"น้ำ" เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการกสิกรรม ต่อการดำรงชีวิต ที่ใดมีน้ำที่นั่นย่อมมีชีวิต ที่ใดมีชีวิตที่นั่นย่อมมีปุ๋ย มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่มาของแหล่งอาหาร ทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตขาดน้ำไม่ได้ น้ำจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง บางท่านถึงกับให้คำนิยามว่า "น้ำ" คือ "ทองคำขาว"

   การทำกสิกรรมสิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องคิดถึงเรื่องแหล่งน้ำ ที่มาของน้ำ คุณภาพและปริมาณน้ำต้องเพียงพอต่อการใช้เพาะปลูกทั้งปี ขนาดของพื้นที่แปลงเพาะปลูก ชนิดของพืชที่ปลูก เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องนำมาวิเคราะห์ และสิ่งสำคัญอันดับรองลงมาคือพลังงานซึ่งจะต้องนำมาบริหารจัดการน้ำ อาจจะได้จากกระแสไฟฟ้า 220 VAC ใช้กับมอเตอร์ปั๊มน้ำ พลังงานฟอสซิล แก๊ส น้ำมัน ใช้กับเครื่องยนต์ หรือพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น

   พืชต้องการน้ำมากน้อยต่างกัน ถ้าเป็นประเภทผักสวนครัว เช่น ผักกาด ผักบุ้ง คะน้า มะเขือเทศ แครอท ฯลฯ แบบนี้ต้องการน้ำที่มาก ให้น้ำอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น หัวจ่ายน้ำควรเป็นแบบมินิสปริงเกอร์ การกระจายของน้ำสม่ำเสมอ และไม่เปียกโชกจนผิวหน้าแปลงเพาะปลูกมีน้ำขัง ซึ่งจะเป็นข้อเสียหายต่อระบบรากของพืช รากจะเน่าเฉาตาย การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์มีข้อดีคือ 
  ๑. น้ำพ่นเป็นละอองฝอย อณูของละอองน้ำจะช่วยตรึงไนโตรเจนในบรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ที่อยู่ติดกับผิวโลกลงสู่พืชด้วย พืชจะชอบมาก ใบพืชจะเขียวสด
  ๒. ผิวหน้าดินจะไม่เปียกโชก ดินจะไม่ตึง การระบายอากาศที่ผิวดินจะดีมาก
  ๓. การพ่นน้ำเป็นละอองฝอยยังช่วยให้เกิดการชะล้างปุ๋ยที่วางคลุมบนแปลงผักลงไปสู่ระบบรากของพืชได้เป็นอย่างดี
  ๔. เป็นการจำลองธรรมชาติแบบฝนตก ละอองน้ำจะกระจายตัวสม่ำเสมอ
  ๕. สามารถให้ฮอร์โมนพืช ปุ๋ยน้ำ หรือสารสมุนไพรไล่แมลง ผสมไปกับน้ำได้ ช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงานได้มาก
  ข้อเสียคือ 
  ๑.ต้องใช้พลังงานเพิ่มแรงดันประมาณ ๑.๕ บาร์( แรงดันน้ำ ๑ บาร์ คือระดับน้ำต้นทางสูงจากหัวจ่ายสปริงเกอร์ ๑๐ เมตร กรณีเป็นถังส่งน้ำประปา)
  ๒. หัวจ่ายน้ำจะอุดตันโดยเฉพาะตัวมดชอบเข้าไป ถ้าหยุดการให้น้ำนานหลายวัน
  ๓. ต้องใช้ตัวกรองน้ำ(กรองเกษตร) และต้องหมั่นล้างไส้กรองด้วย
  ๔. แหล่งน้ำต้องไม่มีผงตะกอน หรือตะไคร่น้ำ
  ส่วนการให้น้ำพืชแบบหัวน้ำหยด หรือเทปน้ำหยด ก็มีข้อดี ข้อเสีย 
ข้อดี คือ  
  ๑. ประหยัดน้ำและพลังงาน แรงดันของน้ำไม่ต้องมาก ประมาณ ๐.๕ บาร์ก็ใช้ได้แล้ว
  ๒. เหมาะกับพืชไร่ เช่น ไร่อ้อย มันสำปะหลัง หรือต้นไม้ยืนต้น เช่น สวนปาล์มน้ำมัน
ข้อเสีย คือ
  ๑. การให้น้ำจะไม่กระจายตัว ถ้าดินเป็นทราย น้ำหยดจะซึมลงในแนวดิ่ง รากฝอยของพืชจะได้น้ำไม่ทั่วถึง ถ้าเป็นดินเหนียวน้ำจะเปียกและขังอยู่เฉพาะจุด รากพืชจะเน่าและเฉาตาย
  ๒. ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนฝนตก ไม่ชะล้างหน้าดินที่ใส่ปุ๋ยอยู่ด้านบนผิวดิน ลงไปสูระบบรากของพืช ปุ๋ยที่ใส่หน้าดินจะถูกแสงแดดทำลาย ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช การเจริญเติบโตของพืชจะช้ากว่าระบบให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์
  ๓. ระบบน้ำหยดไม่เหมาะกับแปลงผักสวนครัว ไม่ตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักของพืชที่สำคัญที่สุด ประมาณ ๘๐ % ที่พืชต้องการ

ท่านสามารถหาซื้ออุปกรณ์การให้น้ำพืชได้ที่ http://www.superproducts.co.th/contact.html

ภาพแสดง : การผูกเหล็กเส้นขนาด ๒ หุน เป็นตะแกรงก่อนเทคอนกรีตผสมกันน้ำยากันน้ำซึม


อ่างน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความจุน้ำ ๑๕ คิว ค่าวัสดุ ๘,๕๐๐ บาท
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ เมตร ลึก ๑.๖๐ เมตร
สถานที่ : บ้านพักปฏิบัติธรรม อยู่ข้างพุทธสถานสีมาอโศก
หมู่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา









    จากที่กล่าวมานี้ท่านคงพอสรุปได้ว่าจะวางระบบการให้น้ำแก่พืชได้อย่างไร แต่ยังมีประเด็นที่ควรคำนึงเพิ่มเติมอีก ดังนี้
  ๑. ขนาดพื้นที่ทำการกสิกรรม ถ้าเป็นกสิกรรมแบบยังชีพหรือแบบพอเพียง หรือกสิกรรมแบบประณีต ควรไม่เกิน ๑ ไร่ต่อแรงงาน ๑ คน
  ๒. ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ได้แก่ ลักษณะของดิน เป็นดินร่วน ดินทราย หรือดินเหนียว ผิวพื้นที่มีความลาดเอียงกี่องศาจากแนวระนาบ (ประโยชน์เพื่อประกอบการพิจารณาวางระบบน้ำ) ตลอดจนวัดค่า pH ของดินได้เท่าไร (ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ควรวัดหลายๆจุด และมีความลึกที่แตกต่างกัน แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย)
  ๓. ถ้าจะมีการปรับแต่งผิวดิน เช่น ไถดิน ขุดดิน ขุดร่องน้ำ ทำถนนทางเดิน ควรดำเนินการก่อนวางระบบน้ำ
  ๔. เมื่อจัดวางระบบน้ำแล้ว ให้งดการไถพรวนดิน หรือขุดดิน เพราะจะทำความเสียหายให้กับระบบท่อน้ำใต้ดิน ให้ใช้วิธีหมักดิน หรือปรับโครงสร้างของผิวดิน แล้วนำไปทับหน้าดินเท่านั้น(ไม่ให้ไถพรวนดิน) หน้าดินจะอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พืชจะเจริญงอกงามเติบโตได้ดีมาก ปัญหาโรคพืชแทบไม่มี ไม่ต้องกลัวกับปัญหาวัชพืช หญ้าต่างๆที่จะงอกงาม เพราะให้เอาประโยชน์จากหญ้ามาหมักทำปุ๋ยแล้วนำไปทับหญ้า เรียกว่าเอาเกลือจิ้มเกลือ ที่ใดมีหญ้าที่นั่นมีปุ๋ยที่ดีมาก ควรทำปุ๋ยจากหญ้าสดในแปลงเพาะปลูก ๒ สัปดาห์ก็ได้ปุ๋ยแล้ว
  ๕. เมื่อวางระบบน้ำแล้วให้ปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ห้ามปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าจากการเพาะปลูก เพราะหน้าดินจะถูกทำลายจากแสงแดด พืชต่างชนิดกันย่อมดูดกินสารอาหารพืชต่างกัน เพราะสัญญาของพืชต่างกัน (พีชนิยาม)

ตัวอย่าง องค์ประกอบหลักในการจัดทำระบบน้ำให้กับพืช(แบบมินิสปริงเกอร์ ใช้พลังงานไฟฟ้า)

ภาพแสดง : นาฬิกาและวงจรไฟฟ้าให้น้ำแบบอัตโนมัติ

ส่วนประกอบหลักในการวางระบบน้ำ มีดังนี้

๑. ปั๊มน้ำ (220 vac) มีหลากหลายแบบให้เลือก ตามตัวอย่างนี้ใช้ปั๊มหอยโข่ง แบบ ๒ ใบพัด ท่อน้ำเข้าขนาด ๑ น้ว ๒ หุน ท่อน้ำออก ๑ นิ้ว ส่งน้ำได้ไกล แรงดันน้ำสูง ใช้ไฟฟ้า ๗๕๐ วัตต์หรือ ๑ แรงม้า ถ้าแบ่งเขตการให้น้ำ ใช้กับโซลินอยด์วาล์ว ๖ โซน สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ ประมาณ ๒-๓ ไร่ ขึ้นอยู่กับการวางระยะห่างหัวสปริงเกอร์
๒. ถังเติมปุ๋ยไปกับท่อน้ำ ต้องติดตั้งที่กรองเกษตรด้วย
๓. นาฬิกาตั้งเวลาให้น้ำอัตโนมัติ (24 vac) ตามตัวอย่างนี้ใช้นาฬิกาชนิดแบ่งเป็น ๖ โซน ราคาประมาณ ๑,๘๐๐ บาท
๔. วาวล์ปิด-เปิดน้ำอัตโนมัติ (โซลินอยด์วาล์ว) แยกเป็นโซนพื้นที่เพาะปลูก ราคาตัวละประมาณ ๙๐๐ บาท
๕. ที่กรองน้ำเกษตร ขนาด ๒ นิ้ว(ใช้ขนาดใหญ่เพื่อกรองน้ำได้มาก) อันละประมาณ ๑,๐๐๐ บาท
๖. ท่อหลัก จะใช้ท่อ PE หรือ PVC ก็ได้
๗. ท่อรอง จะใช้ท่อ PE หรือ PVC ก็ได้
๘. ท่อแขนง ควรเป็นท่อ PE ขนาด 25 มิล หรือ 20 มิล
๙. ท่อฝอย PE ขนาด 4 มิล ใช้ต่อกับหัวจ่ายมินิสปริงเกอร์
๑๐. หัวจ่ายน้ำมินิสปริงเกอร์ มีหลายแบบให้เลือก
๑๑. ข้อต่อท่อน้ำแบบต่างๆ

รายละเอียดอุปกรณ์ให้น้ำ ให้คลิกดูที่ http://www.superproducts.co.th/contact.html

ภาพแสดง : การติดตั้งระบบปั๊มน้ำ ถังเติมปุ๋ย และชุดนาฬิกาตั้งเวลาให้น้ำอัตโนมัติ


ภาพแสดง : การติดตั้งหัวจ่ายน้ำมินิสปริงเกอร์แบบถาวร
ฝังท่อ PE ขนาด ๒๐ มิลลึกประมาณครึ่งเมตร ประกอบท่อใยหินขนาด ๔ นิ้ว ยาว ๑.๕ เมตร
เพื่อป้องกันหนูกัดท่อจ่ายน้ำ เครื่องมือมีด เคียว เครื่องตัดหญ้าตัดท่อน้ำขาด
ส่วนก้านเหล็กยื่นที่หัวเสาไว้สำหรับยึดโยงพืชที่ล้มลง เช่น มะเขือเทศ พริก



  



ไม่มีความคิดเห็น: