วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษ

กรุณาคลิก..ดาวน์โหลดใบสมัครสมาชิก คกร.
โดย เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)
ภายใต้การกำกับ ของสถาบันบุญนิยม (สบม.)
------------------------------------------------------

เป้าหมาย
๑.  เพื่อสร้างตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในการทำกสิกรรมไร้สารพิษให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
๒. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ตรวจสอบทั้งองค์ความรู้ และการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษให้เป็นมาตรฐานตามที่ คกร.กำหนด เพื่อให้กสิกรรมไร้สารพิษมีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

นิยาม และคำจำกัดความ
เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)
หมายถึง องค์กรบุญนิยม ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันบุญนิยม ด้านกสิกรรมบุญนิยม ดำเนินการภายใต้ธรรมนูญบุญนิยม
เครื่องหมาย คกร.
               
                ตามความหมายของผู้ออกแบบ รูปดอกเห็ดสีเขียว เพื่อสื่อถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่ใดมีเห็ดขึ้นแสดงมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา โดยใช้สีเขียวเป็นสีสัญลักษณ์ มีดอกเห็ดเล็กๆ ๗ ดอกอยู่บนดอกเห็ด และเมล็ดพันธุ์ ๕ เมล็ดในดอกเห็ด เพื่อแสดงถึงการก่อเกิด แผ่ขยายของเครือข่ายที่ทำงานกสิกรรมไร้สารพิษกันเป็นระบบข่ายแห และมีใบไม้ที่ถูกแมลงกัด ๒ ใบที่ด้านล่างของดอกเห็ด เพื่อแสดงถึงเป้าหมายการทำกสิกรรมไร้สารพิษที่มีวิถีการอยู่ร่วมกันของทั้งหมด ทั้งคน สัตว์ ต้นไม้
องค์กรบุญนิยม
หมายถึง องค์กรของชาวอโศกที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในด้านการประพฤติ ปฏิบัติธรรมอันเป็นประโยชน์ตน และการเสริมสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขต่อสังคมส่วนรวม อันเป็นประโยชน์ท่าน โดยมีการทำงานประสานเชื่อมโยงกันเป็นเครือแห
ชาวอโศก
หมายถึง นักบวชและฆราวาสที่ศึกษา ประพฤติปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธตามแนวทางของอโศก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญขององค์กรบุญนิยม และชาวอโศกที่เป็นสมาชิกสมทบขององค์กรบุญนิยม ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมชาวอโศกเกิน ๗ ครั้ง หรืออ่านหนังสือทฤษฎีหลักในการดำเนินชีวิตของชาวอโศกเกิน ๗ เล่ม
ชุมชนแม่ข่าย
หมายถึง ชุมชนพุทธสถาน หรือ ชุมชนสังฆสถาน ที่ระบุในภาคผนวก ๒

พุทธสถาน
หมายถึง สถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวอโศกซึ่งมีสมณะประจำอารามตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป
สังฆสถาน
หมายถึง สถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวอโศกซึ่งมีสมณะประจำอารามน้อยกว่า ๔ รูป
เครือแห
หมายถึง องค์กรบุญนิยมซึ่งร่วมมือกันทำงาน โดยมีการประสานเชื่อมโยงและช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ และประสานกันส่งเสริมกันเป็นขั้นเป็นตอน ตามที่ระบุในภาคผนวก ๒
ตัวแทน คกร. ชุมชนแม่ข่าย
หมายถึง บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ชุมชนแม่ข่ายแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุน ตรวจสอบการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ในกลุ่ม ชุมชน และในเครือแหที่ชุมชนแม่ข่ายรับผิดชอบ
สำนักงาน คกร.
หมายถึง สำนักงานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)  มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการ คกร.มอบหมาย เป็นหน่วยงานธุรการที่ช่วยประสาน จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการทำงานของเครือแหในด้านต่างๆ ตามอุดมการณ์บุญนิยม
กสิกรสมาชิก
หมายถึง  กสิกรที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมเครือแหที่มีนักบวชของชาวอโศกเป็นประธานการประชุม
ปัจจัยการผลิต
หมายถึง  สิ่งที่ใช้ในการผลิตได้แก่  ปุ๋ย  สารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมถึงสารปรุงแต่ง และสารช่วยแปรรูปที่ใช้ในการแปรรูป
แปลง
หมายถึง  พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกที่มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน
แปลงกสิกรรม
หมายถึง  พื้นที่ที่ทำการกสิกรรมทั้งหมดของกสิกรสมาชิก
เกษตรทั่วไป
หมายถึง ระบบการผลิตกสิกรรมใดๆ ที่ไม่ได้ผ่านการรับรองเป็นกสิกรรมไร้สารพิษ
กสิกรรมไร้สารพิษ
หมายถึง  ระบบการผลิตที่ไม่มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด หรือที่มีการตัดต่อสารพันธุกรรม (GMOs) เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัสดุที่ได้จากธรรมชาติ และหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นระบบการผลิตที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ในมาตรฐานการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)
ผลิตผล
หมายถึง  ผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกหรือการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติในแปลงกสิกรรม และ / หรือผ่านการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว (Post Harvest) แล้ว
พืชล้มลุก
หมายถึง  พืชที่มีวงจรชีวิตสั้น เก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นภายในฤดูกาลเพาะปลูกเดียว
พืชยืนต้น
หมายถึง พืชที่มีอายุยาวกว่า ๑ ปี และสามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ต่อเนื่องมากกว่าฤดูกาลผลิตเดียว
พันธุวิศวกรรม (GMOs)
หมายถึง  กระบวนการตัดต่อและปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรม (ยีน)  ด้วยวิธีการทางชีวะโมเลกุล โดยทำให้สารพันธุกรรมของพืช  สัตว์ จุลชีพ  เซลล์ และหน่วยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ได้จากการผสมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ
กสิกรรมไร้สารพิษระยะการปรับเปลี่ยน
หมายถึง  ช่วงเวลานับจากเริ่มต้นทำกสิกรรมไร้สารพิษ ตามมาตรฐาน คกร.  จนกระทั่งได้รับการรับรองผลิตผลว่าเป็นผลิตผลไร้สารพิษ
วัตถุดิบ
หมายถึง  ส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่ไม่ใช่สารปรุงแต่ง
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว (Post Harvest)
ได้แก่ การผึ่งแห้ง การตากแดด การทำความสะอาด การตัดแต่ง การคัดเลือก การบรรจุ การจัดเก็บและการขนส่ง
การแปรรูป
ได้แก่ การต้ม การตากแห้ง การอบ การผสม การบด การอัด การสี การทำให้เป็นของเหลว การหมัก การแช่อิ่ม การเคี่ยว การกวน การทอด ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์
หมายถึง  ผลิตผลที่ผ่านกระบวนการแปรรูป

หมวด ๑ กสิกร และกระบวนการจัดการกลุ่ม เครือแห
ข้อ ๑. กสิกรผู้ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของเครือแห ต้องสมัครและได้รับการรับรองสถานะ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจเรื่องการทำกสิกรรมไร้สารพิษ จากที่ประชุมของชุมชนแม่ข่ายที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ
ข้อ ๒. กสิกรผู้ที่เป็นสมาชิก จะต้องมีทิศทางรักษาศีล ๕ เป็นเบื้องต้น ลด ละ เลิก อบายมุข
ข้อ ๓. ห้ามกสิกรสมาชิกมี ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ในการเกษตรไว้ในครอบครอง
ข้อ ๔. กสิกรสมาชิกมีปกติเข้าร่วมประชุมกลุ่มของเครือแหเดือนละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๕. กสิกรสมาชิก สามารถโอนสิทธิ์การทำประโยชน์ให้ สามี ภรรยา บิดา มารดา บุตร หรือญาติ ที่มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ มาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษ ในพื้นที่เดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งชุมชนแม่ข่ายสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาเป็นกรณีไปที่จะรับรอง โดยยกเว้นระยะการปรับเปลี่ยน พื้นที่การเพาะปลูก

ข้อ ๖. สมาชิกภาพของกสิกรสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก ตามข้อ ๒
(๔) คณะกรรมการชุมชนแม่ข่าย มีมติให้ออก และแจ้งที่ประชุมใหญ่ของชุมชนแม่ข่าย
ข้อ ๗. กสิกรที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเครือแหโดยชุมชนแม่ข่ายใด ไม่สามารถย้ายตนไปเป็นสมาชิกเครือแหของชุมชนแม่ข่ายอื่นได้ ยกเว้นแต่เป็นการโอนความรับผิดชอบระหว่างชุมชนแม่ข่ายกันเอง
ข้อ ๘. กสิกรที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกเครือแหของชุมชนแม่ข่าย และมีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกเครือแหของชุมชนแม่ข่ายอื่น หรือชุมชนแม่ข่ายเดิม ให้ใช้กระบวนการเสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกเข้าใหม่ตั้งแต่ต้น
ข้อ ๙. กสิกรที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจาก ข้อ ๖.(๓) และข้อ ๖.(๔) มีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกเครือแห จะต้องนำเรื่องเข้าขอพิจารณาจากที่ประชุมใหญ่เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย
ข้อ ๑๐. กสิกรสมาชิกที่มีความประสงค์จะเช่าแปลงต่อจากกสิกรเจ้าของแปลงเพาะปลูกที่ลาออกจากสมาชิก จะต้องเริ่มกสิกรรมไร้สารพิษระยะการปรับเปลี่ยนใหม่ในแปลงดังกล่าว
ข้อ ๑๑. กสิกรสมาชิกมิได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูล พื้นที่ครอบครองพื้นที่ทำการเกษตร ชนิดพืช ปริมาณ  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิต หรือไม่ทักท้วงกรณีพบว่าข้อมูลไม่ตรงความจริง ถือว่าจงใจปกปิดข้อมูล  มีผลต่อการพิจารณาไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลผลิตกสิกรรมไร้สารพิษ

หมวด ๒ การจัดการพื้นที่
ข้อ ๑๒. พื้นที่การเพาะปลูกที่กสิกรสมาชิกประสงค์เข้าร่วมเครือแห จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่จากตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่าย และสำนักงานกลาง คกร.
ข้อ ๑๓. พื้นที่การเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้ว  จะต้องไม่ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรทั่วไปกลับไปกลับมา
ข้อ ๑๔. พื้นที่การเพาะปลูกจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มาจากการเปิดป่าชั้นต้น หรืออยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมาย
ข้อ ๑๕. กสิกรสมาชิกจะต้องแจ้งพื้นที่การครอบครองทั้งหมด รวมทั้งประวัติการเพาะปลูกของแปลงกสิกรรมย้อนหลัง ๕ ปี พร้อมทั้งจะต้องขอรับรองมาตรฐานการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษทุกแปลงที่กสิกรสมาชิกครอบครองอยู่
ข้อ ๑๖. กสิกรสมาชิกต้องมีมาตรการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในแปลงกสิกรรม  โดยพยายามรักษาและฟื้นฟูบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัย ของพืชและสัตว์หลากหลายชนิดเอาไว้ ได้แก่ ป่าใช้สอยในไร่นา ป่าบุ่ง ป่าทาม พุ่มไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ในนา แนวพุ่มไม้บริเวณเขตแดนพื้นที่ สวนไม้ผล ร่องน้ำ บ่อ และ พื้นที่ว่างเปล่าที่ปล่อยให้พืชขึ้นตามธรรมชาติ
ข้อ ๑๗. พื้นที่การเพาะปลูกที่ต้องการขอรับรองมาตรฐานการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษต้องผ่าน ระยะปรับเปลี่ยน โดยช่วงเวลาดังกล่าว กสิกรสมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษ  และได้รับการตรวจและรับรองจากตัวแทน คกร. ชุมชนแม่ข่าย และวันที่สมัครขอรับรองมาตรฐานฯ ให้นับเป็นวันที่ ๑ ของการเริ่มต้นระยะการปรับเปลี่ยน แต่ผลผลิตที่ได้จากพืชที่ปลูกในระยะปรับเปลี่ยนนี้จะยังไม่สามารถใช้เครื่องหมาย คกร.ได้ 
ข้อ ๑๘. ในกรณีที่เป็นการเพาะปลูกพืชล้มลุก (ผักและพืชไร่)  ช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลา ๑๒ เดือน โดยผลิตผลของพืชที่ปลูกในวันที่พ้นระยะการปรับเปลี่ยนแล้ว จะสามารถจำหน่ายเป็น ผลิตผลไร้สารพิษ และสามารถใช้เครื่องหมาย คกร.ได้
ข้อ ๑๙. ในกรณีที่เป็นการเพาะปลูกไม้ยืนต้น ช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลา ๑๘ เดือน โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในวันที่พ้นระยะการปรับเปลี่ยนแล้ว จะสามารถจำหน่ายเป็น ผลิตผลไร้สารพิษ และสามารถใช้เครื่องหมาย คกร.ได้
ข้อ ๒๐. ในการปลูกพืชล้มลุก  กสิกรสมาชิกต้องสร้างความหลากหลายของพืชในแปลงกสิกรรม  โดยอย่างน้อยต้องปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อช่วยลดการระบาดของโรค  แมลง  รวมทั้งการปลูกพืชบำรุงดิน  เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ข้อ ๒๑. ในส่วนไม้ยืนต้น  กสิกรสมาชิกต้องสร้างความหลากหลายของพืชภายในแปลงกสิกรรม  โดยอย่างน้อยต้องปลูกพืชคลุมดิน หรือปลูกพืชอื่นๆ หลากหลายชนิด
ข้อ ๒๒. พืชที่ปลูกในแปลงที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน  จะต้องไม่เป็นชนิดเดียวกันกับที่ปลูกในแปลงที่ขึ้นทะเบียนการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษแล้ว  กรณีมีเหตุจำเป็นจะต้องปลูกพืชชนิดเดียวกัน จะต้องลดสถานะรับรองเป็นสถานะปรับเปลี่ยนทุกแปลง
ข้อ ๒๓. ในกรณีที่กสิกรสมาชิกให้ผู้อื่น เช่าพื้นที่ทำการเกษตรในแปลงที่ขึ้นทะเบียนแล้ว  จะต้องเก็บค่าเช่าเป็นเงินเท่านั้น และจะต้องแจ้งข้อมูลให้ ตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่ายรับทราบ
ข้อ ๒๔. กสิกรสมาชิกควรให้มีการตรวจวิเคราะห์ดิน และแหล่งน้ำที่ใช้ อย่างน้อย ๑ ครั้ง ในระยะปรับเปลี่ยนเพื่อวางแผนปรับปรุงดิน และวางแผนการจัดการธาตุอาหารในแปลงการเพาะปลูก

หมวด ๓ การจัดการผลิต
ข้อ ๒๕. เมล็ดพันธุ์เพาะปลูกผลิตผลกสิกรรมไร้สารพิษ จะต้องไม่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม ในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่าผลผลิตได้รับการปนเปื้อนจากการดัดแปลงพันธุวิศวกรรม โดยผู้ผลิตไม่ได้ตั้งใจแต่ไม่สามารถควบคุมได้ ตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่ายอาจพิจารณาไม่รับรองผลผลิตนั้นๆ
ข้อ ๒๖. เมล็ดพันธุ์ที่ใช้เพาะปลูกจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในกระบวนการผลิตกสิกรรมไร้สารพิษเท่านั้น ยกเว้นผู้ที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน สามารถใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งทั่วไปได้
ข้อ ๒๗. ในกรณีไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชจากกสิกรรมไร้สารพิษได้ อนุญาตให้ใช้จากแหล่งทั่วไปได้ โดยจะต้องแจ้งให้ทางตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่ายรับทราบ แต่กสิกรสมาชิกจะต้องล้างเมล็ดพันธุ์ด้วยน้ำเปล่าอย่างน้อย ๓ ครั้ง และนำน้ำล้างสารคลุกเมล็ดพันธุ์ไปเทในหลุมหรือพื้นดินที่ห่างจากพื้นที่เพาะปลูก กสิกรสมาชิกจะต้องพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชขึ้นเองในไร่นา รวมทั้งเก็บรักษา เพื่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกเครือแห
ข้อ ๒๘. ในกรณีไม้ยืนต้น ถ้ากิ่งพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ที่นำมาปลูกในแปลงกสิกรรมไม่ได้มาจากระบบกสิกรรม
ไร้สารพิษ  ผลผลิตที่จากการปลูกในแปลงกสิกรรมในช่วง ๑๘ เดือนแรก จะไม่สามารถจำหน่ายภายใต้เครื่องหมาย คกร.ได้
ข้อ ๒๙. กสิกรสมาชิกต้องพยายามนำอินทรียวัตถุทั้งจากพืชและสัตว์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงบำรุงดิน และลดการใช้อินทรียวัตถุที่นำมาจากนอกแปลงกสิกรรม ตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่าย จะพิจารณาอนุญาตให้กสิกรสมาชิกนำอินทรียวัตถุที่นำมาจากนอกแปลงกสิกรรมมาใช้เป็นกรณีไป โดยปริมาณที่อนุญาตให้ใช้จะพิจารณาจากสภาพในท้องถิ่น และความต้องการของพืชที่เพาะปลูก
ข้อ ๓๐. กสิกรสมาชิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องมีแผนการใช้อย่างผสมผสาน  และใช้เท่าที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของธาตุอาหารในดิน  และความต้องการธาตุอาหารของพืชที่เพาะปลูก
ข้อ ๓๑. อนุญาตให้ใช้ปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน  ตามภาคผนวก ๑ ส่วนที่ ๑
ข้อ ๓๒. ห้ามนำมูลสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการหมักเบื้องต้นมาใช้กับพืชโดยตรง  ยกเว้นมีการอบผ่านความร้อนจนแห้งดีแล้ว หรือใช้ในการเตรียมดิน โดยคลุกดินทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า  ๑  เดือน ก่อนการเพาะปลูกพืช
ข้อ ๓๓. ห้ามใช้อินทรียวัตถุที่มีส่วนผสมจากอุจจาระของมนุษย์ที่ไม่ได้ผ่านการหมักจนปราศจากใช่พยาธิ
มาใช้เป็นปุ๋ยในแปลงเพาะปลูก
ข้อ ๓๔. ในกรณีที่ใช้มูลสัตว์ปีกจากแปลงกสิกรรม ต้องมาจากแปลงกสิกรรมที่เลี้ยงแบบปล่อยรวมฝูง  และต้องแจ้งแหล่งผลิตให้ตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่ายรับทราบ
ข้อ ๓๕. อนุญาตให้ใช้ปุ๋ยหมักทั้งที่ผลิตเองในแปลงกสิกรรม หรือที่นำมาจากแปลงกสิกรรมของกลุ่มเครือข่ายในชุมชนได้ แต่ส่วนประกอบที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมักต้องมาจากอินทรียวัตถุ  และผู้ผลิตต้องแจ้งส่วนประกอบของอินทรียวัตถุที่ใช้ในการหมักและแหล่งที่มาให้ตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่าย ทราบ
ข้อ ๓๖. ในการทำปุ๋ยหมัก อาจใช้แร่ธาตุเสริมในการทำปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มธาตุอาหารได้ เช่น การใช้หินฟอสเฟตบดละเอียดเพื่อเพิ่มธาตุฟอสฟอรัส หรือการใช้หินฝุ่นกราไฟต์เพื่อเพิ่มธาตุโพแทสเซียม
ข้อ ๓๗. ห้ามใช้ปุ๋ยหมักจากขยะที่ไม่ได้คัดแยกตั้งแต่ต้น  เพราะมีปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนัก
ข้อ ๓๘. อนุญาตให้ใช้ปุ๋ยแร่ธาตุเป็นธาตุอาหารเสริมในดินได้เฉพาะในกรณีที่จำเป็น เมื่อกสิกรสมาชิกได้
ทำการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการหมุนเวียนธาตุอาหารภายในแปลงกสิกรรม  การปลูกพืชตระกูลถั่ว  และการใช้อินทรียวัตถุแล้ว  แต่ยังไม่เพียงพอ และปุ๋ยแร่ธาตุที่นำมาใช้ต้องอยู่ในรูปแบบธรรมชาติเฉพาะที่ผ่านการบดเท่านั้น  ห้ามนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อช่วยละลายน้ำได้ดีขึ้น
ข้อ ๓๙. อนุญาตให้ใช้เชื้อจุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงดิน  ทำปุ๋ยหมัก และกำจัดน้ำเสีย แต่ห้ามใช้จุลินทรีย์ที่มาจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม
ข้อ ๔๐. ห้ามเผาตอฟางข้าวและเศษวัสดุในแปลงเกษตร เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน กสิกรสมาชิกต้องพัฒนาวิธีการกำจัดวัชพืชโดยวิธีการย่อยสลาย หรือการป้องกันการขยายพันธุ์วัชพืช
ข้อ ๔๑. ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ข้อ ๔๒. อนุญาตให้ใช้วิธีการและผลิตภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช (สารสมุนไพร)  รวมทั้งสารปรุงแต่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช  เฉพาะตามรายการที่ระบุอยู่ในภาคผนวก ๑ ส่วนที่ ๒
ข้อ ๔๓. อนุญาตให้ใช้วิธีการควบคุม  ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ไม่มีผลกระทบต่อสมดุลระหว่างศัตรูพืชกับ      แมลง และสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติในแปลงกสิกรรม
ข้อ ๔๔. ในการใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อป้องกัน กำจัดวัชพืช และรักษาความชื้นในดิน  ควรใช้ฟางข้าวที่ได้จากนาข้าวไร้สารพิษ แต่ถ้าหาไม่ได้ อนุญาตให้ใช้ฟางข้าวที่ได้จากการทำนาเกษตรทั่วไป
ข้อ ๔๕. ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์เร่งการเจริญเติบโตทุกขั้นตอนในการเพาะปลูก
ข้อ ๔๖. ในกรณีที่แปลงเพาะปลูกอาจได้รับการปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียงที่มีการใช้สารเคมี  กสิกรสมาชิกจะต้องมีแนวกันชนป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียง โดยมีขนาดไม่น้อยกว่า  ๑ เมตร  และต้องอยู่ห่างจากแปลงข้างเคียงไม่น้อยกว่า  ๑ เมตร
ข้อ ๔๗. ในกรณีที่มีการปนเปื้อนทางอากาศ ต้องมีการปลูกพืชเป็นแนวกันลม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มาจากการฉีดพ่นสารเคมีทางอากาศ โดยพืชที่ปลูกเป็นแนวกันลมไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลิตผล
ไร้สารพิษได้  ดังนั้นพืชที่ปลูกเป็นแนวกันลมจึงต้องเป็นพืชคนละพันธุ์กับพืชที่ต้องการจะขอรับรองมาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษจาก คกร. ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างกันได้โดยง่าย
ข้อ ๔๘. ในกรณีที่มีการปนเปื้อนทางน้ำ  จะต้องมีการทำคันดินล้อมรอบแปลง หรือทำร่องน้ำเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีที่มาจากน้ำ  ทั้งนี้ในกรณีที่แปลงที่มาจากน้ำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนมาก  ทางตัวแทน คกร.ชุมชนแม่ข่ายอาจพิจารณาให้ขยายแนวกันชน
ข้อ ๔๙. ในกรณีที่แปลงเพาะปลูกมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีหรือโลหะหนัก  ทั้งที่เกิดจากมลพิษภายนอก หรือจากประวัติการใช้สารเคมีหรือปัจจัยการผลิตแปลงกสิกรรมในอดีต  กสิกรสมาชิกต้องยอมให้นำตัวอย่าง น้ำ  ดิน หรือผลิตผลไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปริมาณสารเคมีตกค้าง
ข้อ ๕๐. ห้ามใช้เครื่องมือที่ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่ใช้ในระบบเกษตรทั่วไป  ปะปนกับเครื่องมือฉีดพ่นที่ใช้ในระบบการผลิตพืชไร้สารพิษ
ข้อ ๕๑. ในกรณีที่มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เช่น  เครื่องเก็บเกี่ยว  เครื่องนวด ฯลฯ  ร่วมกันกับแปลงกสิกรรมเกษตรทั่วไป  กสิกรสมาชิกจะต้องมีมาตรการทำความสะอาดเครื่องจักรดังกล่าว ก่อนที่จะนำไปใช้ในแปลงไร้สารพิษ

หมวด ๔ การจัดการผลผลิต
ข้อ ๕๒. ผลิตผลที่ได้ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตผล ระบุผู้ผลิต แปลงปลูก และช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ทุกหน่วยของบรรจุภัณฑ์ จากตัวแทน คกร. ชุมชนแม่ข่าย
ข้อ ๕๓. บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่ผลผลิตไร้สารพิษที่มาจากแปลงกสิกรรม ต้องไม่เคยใช้บรรจุสารเคมี  ปุ๋ยเคมี หรือสิ่งที่เป็นพิษมาก่อน
ข้อ ๕๔. บรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ ต้องไม่ผ่านการอบด้วยสารฆ่าเชื้อราหรือสารเคมีอื่นๆ
ข้อ ๕๕. พื้นที่การจัดเก็บผลผลิตกสิกรรมไร้สารพิษ รวมถึงบริเวณโดยรอบระยะ อย่างน้อย ๕ เมตร จะต้องไม่ผ่านการอบ รม ฉีด พ่น ด้วยสารเคมีใดๆ
ข้อ ๕๖. ระหว่างการเก็บรักษาผลผลิต จะต้องไม่ใช้สารฆ่าเชื้อรา สารฆ่าแมลง และสารเคมีอื่นใดในการเก็บรักษาผลผลิตนั้น อนุญาตเฉพาะตามรายการที่ระบุอยู่ในภาคผนวก ๑ ส่วนที่ ๓
  

ภาคผนวก
ภาคผนวก ๑ ปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในการทำกสิกรรมไร้สารพิษ
ส่วนที่ ๑  ปัจจัยการผลิตที่ใช้เป็นปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน
รายการวัสดุ
รายละเอียด / ข้อกำหนด
สัญลักษณ์
กระดูกป่น
กระดูกสัตว์หรือกระดูกปลาบดละเอียด ให้ธาตุฟอสฟอรัสและธาตุไนโตรเจนแก่ดิน   มีคุณสมบัติเป็นด่างเล็กน้อย ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสมดุลของธาตุอาหารในดิน
!
กากน้ำตาลหรือโมลาส
ใช้ในการหมักทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์
ü
กากเมล็ดพืช
กากที่เหลือจากการบีบน้ำมัน เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เมล็ดสะเดา เมล็ดละหุ่ง  ให้ธาตุไนโตรเจน  ควรใช้สภาพที่ผ่านการหมักแล้ว ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจทำให้พืชไหม้หรือเน่าตาย
!
แกลบ
ใช้เป็นวัสดุคลุมดิน  ช่วยปรับปรุงดินเหนียวให้โปร่งขึ้น  แต่ควรใช้ร่วมกับวัสดุอื่น เพราะมีธาตุอาหารน้อยมาก และเก็บความชื้นได้ไม่ดี ย่อยสลายช้า
!
ขี้เถ้าไม้ , ขี้เถ้าแกลบ
ใช้เป็นวัสดุปรับปรุงความเป็นกรดของดิน เป็นแหล่งของธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ไม่ควรใช้กับต้นกล้าของพืช
!
ขี้เลื่อย
เมื่อผสมกับดินปลูกจะช่วยทำให้ดินโปร่งขึ้น เก็บความชื้นได้มากขึ้น แต่ย่อยสลายช้า  ควรนำไปหมักก่อนนำไปใช้
!
จุลินทรีย์
อนุญาตให้ใช้จุลินทรีย์ทุกชนิดกับปุ๋ยหมัก  พืช เมล็ดพืช และดิน  ยกเว้นจุลินทรีย์ที่ได้มาจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม
ü
โดโลไมท์
(แร่ธาตุจากธรรมชาติ)
๑.  ใช้ปรับปรุงความเป็นกรดของดิน
๒.  อาจใช้เพื่อเสริมธาตุแมกนีเซียมที่มีราคาถูกแก่พืช
   การใช้เกินความจำเป็นอาจเป็นอันตรายต่อพืช
ü
!
ปุ๋ยจากถุงเห็ด
ขี้เลื่อยและเศษวัสดุเหลือทิ้งจากถุงเห็ดนางฟ้า นางรม ฯลฯ
ü
ปุ๋ยชีวภาพ
วัสดุที่มีเชื้อจุลินทรีย์ช่วยดูดซับและช่วยย่อยธาตุอาหารให้แก่พืช
ü
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ
ได้จากการหมักเศษพืช เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์โดยธรรมชาติ  ใช้เป็นปุ๋ยฉีดพ่นหรือเติมลงในดินเพื่อให้พืชแข็งแรง
ü
ปุ๋ยไนโตรเจน
( จากธรรมชาติ )
 เช่น กระดูกป่น  เลือดสัตว์แห้ง สาหร่ายสีน้ำเงินแกมสีเขียว  มูลไก่  กากถั่ว  กากเมล็ดสะเดา  ฯลฯ  ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม  โดยคำนึงถึงสมดุลของธาตุอาหารในดิน
ü
ปุ๋ยพืชสด
เช่น   โสน   ปอเทือง  พืชตระกูลถั่วต่างๆ ฯลฯ 
ü
ปุ๋ยโพแทสเซียม
(จากธรรมชาติ )
ขี้เถ้าไม้  หินบด ฯลฯ
!
ปุ๋ยฟอสเฟต ( จากธรรมชาติ )
กระดูกป่น สาหร่ายทะเล มูลไก่ มูลค้างคาว ขี้เถ้าไม้  กากเมล็ดพืช ฯลฯ
!
ปุ๋ยมูลค้างคาว
เป็นแหล่งปุ๋ยฟอสเฟตที่สำคัญ มีคุณสมบัติเป็นด่างเล็กน้อย
!
ปุ๋ยมูลสัตว์
-   ห้ามใช้มูลสัตว์ที่ยังไม่ผ่านการหมักเบื้องต้น  ยกเว้นผ่านการอบด้วยความร้อนและควรอยู่ในสภาพที่แห้งดีแล้ว
-    ไม่ควรนำปุ๋ยตากแดดทิ้งไว้  เพราะจะสูญเสียธาตุไนโตรเจนโดยการระเหิด  ควรเก็บไว้ในที่ร่ม  และรองพื้นดินด้วยเศษไม้ใบหญ้าหรือฟางข้าว  และถ้าโรยหินฟอสเฟตบดลงไปด้วย  จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารมากขึ้น
-  ใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ
!
ปุ๋ยหมัก
การหมักปุ๋ยช่วยแก้ปัญหาวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์ได้   อนุญาตให้ใช้เมื่อมีส่วนประกอบเป็นวัสดุตามที่ระบุอยู่ในภาคผนวกนี้
ü
ปุ๋ยหมักจากกองเห็ดฟาง
อนุโลมให้ใช้จากกองที่ใช้ฟางที่มาจากนาที่ใช้ปุ๋ยเคมี

ü
ปูนมาร์ล, หินปูนบด
ใช้เพื่อปรับปรุงความเป็นกรดด่างของดิน ควรใช้ในรูปที่บด ละเอียดแล้ว  ห้ามใช้ปูนเผาเป็นสารปรับปรุงดิน เนื่องจากออกฤทธิ์รุนแรง
ü
พืชหมุนเวียน
ควรปลูกพืชหมุนเวียนต่างตระกูลกัน เพราะระดับรากต่างกัน การหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินจะสมบูรณ์ขึ้น  การใช้ธาตุอาหารของพืชชนิดต่างๆ  จากน้อยไปมาก ดังนี้
พืชตระกูลถั่ว    พืชกินหัว    พืชกินใบ  พืชกินผล   ธัญพืช
ü
ฟางข้าวและวัสดุคลุมดิน
( จากธรรมชาติ )
เช่น  หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง  เพื่อลดการระเหยน้ำจากหน้าดิน   ลดความรุนแรงของน้ำฝน  ลดการชะล้างหน้าดิน  ควบคุมวัชพืช ปรับอุณหภูมิของดินให้เหมาะสม
ü
ไรโซเบียม
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ใช้คลุกเมล็ดพืชตระกูลถั่วก่อนปลูก  และพืชช่วยให้เมล็ดเกาะเชื้อได้ดีขึ้น  สามารถใช้สารละลายน้ำตาลเข้มข้น ๘๐  %   หรือสารละลายนมผงแช่เมล็ดก่อนคลุกได้
ü
วัสดุปรับปรุงดิน
วัสดุจากธรรมชาติที่ใส่ลงไปในดินแล้วจะช่วยปรับปรุงสภาพกายภาพ / เคมี / ชีวะของดิน ให้ดีขึ้น ได้แก่   เศษไม้  ขี้เลื่อย แกลบ ซังข้าวโพด เปลือกถั่ว ฯลฯ
ü
เศษปลา
ใช้หมักทำเป็นปุ๋ย
!
เศษพืช ผัก
และวัสดุการเกษตร
ใช้ทำปุ๋ยหมัก
ü
หอยเชอร์รี่
ใช้หมักทำเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพ
ü
หินฟอสเฟต
ใช้เป็นแหล่งแร่ธาตุฟอสเฟต (P)  ละลายน้ำได้ยาก ปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้าๆ จึงควรบดละเอียดและคลุกเคล้าให้เข้ากับดินอย่างดี

!
หินกราไฟต์
ใช้เป็นแหล่งแร่ธาตุโพแทสเซียม (K)

!
แหนแดง
มีธาตุไนโตรเจนสูง ย่อยสลายได้เร็ว ๘๐ % ของธาตุอาหารในแหนแดงจะปลดปล่อยออกมา หลังจากไถกลบได้ ๒  เดือน (๘ สัปดาห์)
ü

ส่วนที่ ๒  ผลิตภัณฑ์และวิธีการที่อนุญาตให้ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช / โรคพืช / วัชพืช และสารเร่งการเจริญเติบโต
รายการวัสดุ
รายละเอียด / ข้อกำหนด
สัญลักษณ์
ดาวเรือง
ควรปลูกไว้ในไร่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่เป็นประโยชน์ และช่วยป้องกันไส้เดือนฝอยศัตรูพืชในดิน
ü
ตัวห้ำ ตัวเบียน
เป็นการควบคุมโดยชีววิธี  ใช้ปล่อยเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช
!
น้ำมะพร้าว
ใช้เป็นฮอร์โมนจากธรรมชาติ
ü
น้ำส้มสายชู
ใช้ฉีดพ่นป้องกันกำจัดโรคและแมลงโดยเจือจางก่อนใช้
ü
พืชคลุมดิน
 ควรปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อช่วยกำจัดวัชพืช ป้องกันการชะล้างหน้าดินและรักษาความชื้นของดิน
ü
พืชหมุนเวียน
ช่วยลดการแพร่กระจายของศัตรูพืช
ü
พืชไล่แมลง
เช่น  ตะไคร้หอม
ü
วัสดุคลุมดิน
ให้ใช้วัสดุคลุมดินจากธรรมชาติ เช่น  หญ้าแห้ง  ใบไม้แห้ง ฟางข้าว ปุ๋ยหมัก  ควบคุมวัชพืช
ü
สะเดา
ใช้ป้องกันกำจัดแมลงและหนอนศัตรูพืช
ü
เอทิลแอลกอฮอร์,เหล้าขาว
ใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลง
ü
  
            ส่วนที่  ๓  ผลิตภัณฑ์และวิธีการที่อนุญาตให้ใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูและสัตว์ในโรงเก็บ
รายการวัสดุ
รายละเอียด / ข้อกำหนด
สัญลักษณ์
ขี้เถ้าไม้
ใช้ล่อแมลงไม่ให้มารบกวน
ü
น้ำมันเครื่องใช้แล้ว
ใช้ร่วมกับกับดักไฟล่อแมลง ดักแมลงที่มาเล่นไฟ
ü
น้ำมันพืช
ใช้คลุกเมล็ดเพื่อป้องกันแมลงทำลาย
ü
หมายเหตุ :  ความหมายของสัญลักษณ์     ü  ให้ใช้ได้     !  ให้ใช้อย่างระมัดระวัง

ภาคผนวก ๒ เครือแห กสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)
เครือแหภาคกลาง
๑. ชุมชนแม่ข่ายสันติอโศก (๑๑๐๐) ๖๕/๑ ซ.นวมินทร์ ๔๔ ถ.นวมินทร์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม.
๒. กลุ่มบูรพาอโศก (๑๑๐๑) ๔๗/๑ ถ.เทศบาลดำริ ซ.๑ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
๓. ชุมชนแม่ข่ายปฐมอโศก (๑๒๐๐) ๖๖ ม. ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม
เครือแหภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๔. ชุมชนแม่ข่ายหมู่บ้านศีรษะอโศก (๒๑๐๐) หมู่ที่ ๑๕ ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
๕. ชุมชนศรีโคตรบูรณ์อโศก (๒๑๐๑) ๑ บ้านปากอูน หมู่ที่ ๗ ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม
จ.นครพนม
๖. ชุมชนร้อยเอ็ดอโศก (๒๑๐๒) ๑๑๐ หมูที่ ๖ บ้านเหล่าแขม ต.เกาะแก้ว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
๗. ชุมชนสุรินทร์อโศก (๒๑๐๓) ๑๖๑ หมู่ ๑๑ บ้านสำโรงน้อย ต.สลักใด อ.เมือง จ.สุรินทร์
๘. กลุ่มสกลอโศก (๒๑๐๔) ๑๖๘ หมู่ ๕ ต.ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
๙. ชุมชนแม่ข่ายสีมาอโศก (๒๒๐๐) ๙๔ หมู่ที่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
๑๐. ศูนย์ศึกษาพัฒนาชาวบ้านวังน้ำเขียว (๒๒๐๑) ๑๔ หมู่ ๑๑ บ้านน้ำซับ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
๑๑. กลุ่มเมฆาอโศก (๒๒๐๒) ๕๖ หมู่ ๗ ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
๑๒. ชุมชนแม่ข่ายหมู่บ้านราชธานีอโศก (๒๓๐๐) หมู่ ๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ
จ.อุบลราชธานี
๑๓. กลุ่มสวนส่างฝัน (๒๓๐๑) ๒๑๖ สวนส่างฝัน หมู่ ๑๑ บ้านยาง ถ.เอกอำนาจ ต.บุ่ง อ.เมือง
จ.อำนาจเจริญ
๑๔. ชุมชนแม่ข่ายหินผาฟ้าน้ำ (๒๔๐๐) ๔๒๘ หมู่ที่ ๑๗ บ.นาแก ต.นาหนองทุ่ม อ.แก้งคร้อ
จ.ชัยภูมิ
๑๕. ชุมชนเลไลย์อโศก (๒๔๐๑) ๒๔๖ หมู่ที่ ๗ บ้านเอราวัณ ต.ผาอินทร์แปลง กิ่งอ.เอราวัณ จ.เลย
๑๖. ชุมชนดินหนองแดนเหนือ (๒๔๐๒) ๑๕๙ หมูที่ ๑๑ ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
๑๗. กลุ่มแก่นอโศก (๒๔๐๓) ๒๓๙ หมู่ ๕ ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เครือแหภาคเหนือ
๑๘. ชุมชนแม่ข่ายศาลีอโศก (๓๑๐๐) ๑๖ หมู่ ๓ ต.โคกเดื่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
๑๙. กลุ่มเพชรผาภูมิ (๓๑๐๑) ๖๓ หมู่ ๒๑ บ้านฟ้าเกื้อ ต.วังทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
๒๐. ชุมชนแม่ข่ายภูผาฟ้าน้ำ (๓๒๐๐) ๓๑/๑ หมู่ ๕ บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
๒๑. ชุมชนดอยรายปลายฟ้า (๓๒๐๑) ๒๕๙ หมู่ ๘ บ้านห้วยบง ต.ท่าสาย อ.เมือง จ.เชียงราย
๒๒. กลุ่มฮอมบุญ (๓๒๐๒) ๔/๑ หมู่ ๕ บ้านป่าไผ่ ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่
เครือแหภาคใต้
๒๓. ชุมชนแม่ข่ายทะเลธรรม (๔๑๐๐) ๔๑ หมู่ ๓ ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง
๒๔. กลุ่มธรรมชาติอโศก (๔๑๐๑) ๑๒๖ หมู่ ๔ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร

บทเฉพาะกาล
๑. การทำกสิกรรมไร้สารพิษโดยส่วนกลางของชุมชนเครือแหไม่ต้องขึ้นทะเบียนกสิกร แต่ชุมชนเครือแหจะต้องแจ้งรายชื่อผู้ดูแลแปลงผลผลิตให้กับทางสำนักงานกลาง คกร.ทราบ เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงาน
๒. ให้พื้นที่ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของชุมชนเครือแห เกินกว่าระยะเวลา ๕ ปี สามารถขึ้นทะเบียนพื้นที่การเพาะปลูกกสิกรรมไร้สารพิษได้ โดยไม่ต้องอยู่ในระยะการปรับเปลี่ยน 



ระเบียบขั้นตอนการดำเนินงาน
เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย



ข้อ ๑.          กสิกรที่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) จะต้องแจ้งความจำนงการสมัครกับทางแม่ข่ายทั้ง ๙ แห่งของเครือข่าย คกร. เท่านั้น

ข้อ ๒.        กสิกรจะมีสถานะภาพการเป็นสมาชิกของ คกร. สมบูรณ์ เมื่อผ่านการพิจารณาจากรับรองจากที่ประชุมแม่ข่าย โดยมีนักบวชชาวอโศกเป็นประธานในที่ประชุม ว่ามีคุณสมบัติ ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการทำกสิกรรม ตามมาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษ และทางแม่ข่ายจะส่งเรื่องให้กับทางสำนักงาน คกร. เป็นผู้ลงทะเบียนกสิกรสมาชิกเครือข่ายต่อไป


ข้อ ๓.        ในกรณีที่มีกลุ่มเครือข่ายอื่นใด ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมกับทาง คกร. จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะกรรมการ คกร. และเมื่อผ่านการรับรองกลุ่มเครือข่ายแล้ว ทางคณะกรรมการอาจมอบหมายให้แม่ข่ายที่อยู่ใกล้กับกลุ่มเครือข่ายเป็นผู้ดูแล


ข้อ ๔.          กสิกรสมาชิก หรือกลุ่มเครือข่ายสมาชิก จะต้องแจ้งที่ตั้ง และขนาดของฟาร์มที่ตนดูแลอยู่ ให้กับทางแม่ข่ายทราบ และขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ปลูกกสิกรรมไร้สารพิษ

ข้อ ๕.        กสิกรสมาชิก หรือกลุ่มเครือข่ายสมาชิก จะต้องแจ้งแผนการปลูกพืชในฟาร์มของตนในรอบปีให้กับทางแม่ข่ายทราบ และแม่ข่ายจะรวบรวมแผนการปลูกพืชของสมาชิกในข่ายของตนให้กับทางสำนักงาน คกร. ทราบ เพื่อรวบรวมจัดทำแผนการปลูกพืชกสิกรรมไร้สารพิษทั้งประเทศของทั้ง ๙ ข่าย


               ข้อ ๖.         เมื่อได้แผนการปลูกพืชแล้ว ทางสำนักงาน คกร. จะดำเนินการจัดประชุมอนุมัติแผนการปลูก โดยจะ
                                   ประกอบด้วย คณะกรรมการ คกร., ตัวแทนของแม่ข่ายทั้ง ๙ ข่าย, ตัวแทนด้านพาณิชย์บุญนิยม และ
                                   ตัวแทนด้านการเงินบุญนิยม

ข้อ ๗.        ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนการปลูกพืชตามที่ได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุม โดยอาจมีการส่งเสริม ด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักร ตามความเหมาะสม และจะมีการออกไปตรวจเยี่ยมเป็นระยะๆ ในระหว่างการเพาะปลูกเพื่อยืนยันในกระบวนการไร้สารพิษ ซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วนที่เป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น คือ ตัวแทนจากชุมชนแม่ข่ายและลูกข่ายเป็นหลัก ส่วนทางสำนักงาน คกร. และคณะกรรมการคัดกรองอาจไปตรวจเยี่ยมในบางพื้นที่ที่สนใจ

ข้อ ๘.        ชุมชนแม่ข่ายสามารถยกเลิกการเป็นสมาชิกของกสิกร  เมื่อพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษ

ข้อ ๙.         ผลิตผลที่ได้อาจจะติดเครื่องหมายของ คกร. หรืออาจไม่ติดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการแม่ข่ายนั้นๆ ในการเทียบกับหลักมาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษ ซึ่งผลิตผลที่ไม่สามารถติดเครื่องหมายได้ อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานกสิกรรมไร้สารพิษในบางข้อ  แต่เจตนาของกสิกรสามารถเชื่อถือได้ว่าตั้งใจปลูกพืชแบบไร้สารพิษ

ข้อ ๑๐.      ผลิตผลที่ได้ตามกระบวนการที่ผ่านมานั้น ให้ถือว่าเป็นสินค้าของชุมชน ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการผลิตผลนั้นๆ

ข้อ ๑๑.      ผลิตผลที่ผ่านการรับรองให้ติดเครื่องหมายของ คกร.จากแม่ข่ายได้นั้น ผลิตผลทุกหน่วยของการบรรจุจะต้องขึ้นทะเบียนผลิตผลกับทางแม่ข่าย และส่งทะเบียนผลิตผลให้กับทางสำนักงาน คกร.ทราบ เพื่อสามารถระบุแหล่งที่มาของผลิตผลได้ในภายหลัง

ข้อ ๑๒.     ในการกำหนดราคาผลิตผลตลอดกระบวนการ ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนด โดยให้อยู่ในกรอบของการกำหนดราคากลาง ตามหลักความเป็นธรรมในสังคม (ความเป็นธรรมในสังคม หมายถึง สิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างและคนงานในฟาร์ม และการประกอบการพึงได้รับจากผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ ที่เป็นนายจ้างอย่างเป็นธรรม รวมถึงการที่ผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ ควรได้รับความเป็นธรรมทางการค้า เช่น ราคาที่เป็นธรรม จากผู้ซื้อหรือผู้ขายด้วย)

ไม่มีความคิดเห็น: