วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเผาศพของชาวอโศก

ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตนี้ไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความชราภาพอยู่ทุกขณะ

ทุกคนต้องลาโลก ละสังขาร ผู้เป็นญาติ บุตรหลาน ของผู้วายชนม์ จึงควรทำกิจครั้งสุดท้ายของท่าน เรียกว่า "ฌาปนกิจศพ"

ภาพที่ประกอบบทความนี้ เป็นการจัดงานศพญาติธรรมชาวอโศก ที่พุทธสถานสีมาอโศก เป็นบรรพชนชาวอโศกซึ่งเข้ามาอยู่ในชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ รวมเวลาที่เข้ามาปฏิบัติธรรม ๒๖ ปีคือ คุณยายเกิดบุญ ชาญณรงค์ อายุ ๙๗ ปี ๗ เดือน ถึงแก่กรรมเมื่อ เวลา ๐๘.๑๕ น.วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ และทำการฌาปนกิจศพ เมื่อ ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ณ เมรุกองฟอนแบบเรียบง่ายในยุคโบราณ ณ พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีพ่อครูสมณะโพธิรักษ์เป็นประธาน

อาบน้ำแต่งกายให้ศพ ญาติธรรมจะช่วยกันไม่ต้องจ้างสัปเหร่อ
ญาติธรรมช่วยกันนำร่างผู้วายชนม์ไปที่ศาลาเพื่อทำพิธีรดน้ำศพ
รด น้ำศพ ๘ ต.ค.๕๕

สมณะแสดงธรรมหน้าศพ ก่อนฉันภัตตาหาร ๙ ต.ค.๕๕




สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ แสดงธรรมหน้าศพ ๙ ต.ค.๕๕ เวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น.



 บันทึกภาพเป็นที่ระลึก


พ่อครูสมณะโพธิรักษ์นำขบวนเคลื่อนศพสู่เชิงตะกอนกองฟอน


ญาติธรรม ญาติ บุตรหลาน มาร่วมงานศพประมาณ ๕๐๐ คน


พ่อครูสมณะโพธิรักษ์แสดงธรรมให้มรณะสติแก่ผู้มาร่วมงานประมาณ ๑๐ นาที



 พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธานประชุมเพลิงศพ เวลา ๑๓.๐๐ น. ๑๑ ต.ค.๕๕


ประเพณีการฌาปนกิจศพแบบบุญนิยมของชาวอโศก จะเน้นการประหยัด เรียบง่าย ไม่เล่นการพนัน ไม่มีเหล้า บุหรี่ ไม่ฆ่าสัตว์เพื่อจัดงานศพ ไม่จุดธูปเทียน
เมื่อสมาชิกชาวชุมชนบุญนิยมชาวอโศกเสียชีวิต ก็จะต้องช่วยกันจัดการศพ โดยแบ่งงานหน้าที่กัน ได้แก่ ขั้นตอนต่างๆ ประมาณ ๑๐ ขั้นตอน โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ดังน้
๑. ไปแจ้งตายต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อรับใบมรณบัตร
๒. อาบน้ำศพ แต่งตัวใส่เสื้อผ้าให้ศพ
๓. จัดหาโลงศพ
๔. เตรียมที่ตั้งศพในศาลา ๓ วัน
๕. รดน้ำศพ
๖. แสดงธรรมหน้าศพก่อนฉันภัตตาหาร ๐๙.๐๐ น. และในเวลา ๑๙.๐๐ น. ไม่มีการสวดพระอภิธรรม ไม่กรวดน้ำ ไม่ถวายข้าวพระพุทธเจ้า ไม่นำอาหารจัดให้ผู้วายชนม์
๗. เตรียมเมรุเผาศพ หรือตั้งกองฟอนด้วยไม้ในที่โล่งแจ้ง
๘. สมณะกล่าวแสดงธรรมหน้าเมรุก่อนประชุมเพลิง ไม่มีการทอดผ้าบังสกุล ไม่มีการโยนทาน
๙. ประชุมเพลิงศพ
๑๐. เก็บอัฐิ อังคาร
การสร้างเมรุเผาศพ

    หลังจากเสร็จสิ้นงานเผาศพคุณยายเกิดบุญ ชาญณรงค์ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ชาวชุมชนสีมาอโศก มีดำริจะปรับปรุงสร้างเมรุเผาศพแบบเรียบง่าย ยังคงมีสภาพเป็นการเผาแบบเตาเปิด ใช้ฟืน ถ่าน ซึ่งหาได้ง่ายในชุมชนเป็นเชื้อเพลิง
   
     ทางชุมชนมอบให้ผู้เขียนบทความนี้ เป็นผู้ประสานงาน ผมจะสร้างอย่างไรดี เป็นงานที่ผมไม่เคยทำมาก่อนเลย ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย  ขอให้เพื่อนๆช่วยเสนอแนะด้วยครับ ผมต้องการความหลากหลายในความเห็นเรื่องนี้นะครับ ภาพที่โพสมานี้เป็นแนวทางที่ทางสีมาอโศกจะดำเนินการนะครับ เป็นแนวทางที่ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์กันมาบ้างแล้วในที่ประชุมของชาวชุมชน ดังนี้

     ๑. สถานที่ก่อสร้างเมรุใกล้กับื้นที่ส่วนในของวัด ติดกับลานต้นโพธิ์ใหญ่ด้านทิศตะวันตก ไม่ควรมีการก่อสร้างที่เผาศพ แต่ไม่มีที่อื่นใดที่เหมาะสมกว่า มติจึงให้สร้างเมรุแบบถอดประกอบได้ เนื่องจากนานๆ จะมีคนในวัดเสียชีวิต และไม่รับเผาศพที่ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมชาวอโศก เป็นการเผาศพแบบกองฟอนแต่จะปรับปรุงให้ดูดีขึ้น
     
     ๒. บริเวณพื้นที่เผาศพจะจัดเป็นนิทรรศการวิถีชีวิตนักปฏิบัติธรรมก่อนตาย จะมีนักศิลปะกรรมต่างชาติเข้ามาช่วยปั้นภาพนูนต่ำประดับเสารอบๆเมรุ ได้ประสานงานกับร้านอำแดง ที่ด่านเกวียน ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นจิตอาสาจากชาวต่างชาติ จากอเมริกา ยุโรป
     
     ๓. ที่ปลงศพใช้วัสดุสแตนเลสทั้งหมด ถ้าฝนตกก็จะมีหลังคาทรงกลมต่างระดับ ๕ ชั้น ถ้าฝนไม่ตกก็ไม่ต้องใช้ หลังคาถอดประกอบได้ ๖ ชิ้น
     

     ๔. เมื่อไม่มีการเผาศพบริเวณนี้จะใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อน เป็นที่เพาะกล้าข้าวในถาดเพาะเพื่อนำไปโยนในแปลงนา มีลักษณะเป็นลานหิน สลับกับหญ้า เป็นนิทรรศการของนักปฏิบัติธรรมชาวอโศก ในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบบชาวพุทธที่เคร่งครัดในศีลธรรม ได้แก่ ภาพปั้นดินเผาการฟังธรรม ภาพปั้นฯการบำเพ็ญบุญ ภาพปั้นฯการตั้งโรงทานแจกอาหาร การทำกสิกรรมไร้สารพิษ และภาพปั้นฯฐานงานต่างๆ ดังภาพที่แสดงนี้








วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมของชาวอโศก

     คำว่า "วัฒนธรรม" เป็นนามธรรม เป็นพฤติกรรม เป็นพฤติภาพ ที่ดีงามของสังคมมนุษย์ ในกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชาวอโศกก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เป็นอัตลักษณ์(พึ่งตน จนผู้อื่นพึ่งได้) และเอกลักษณ์(ทำดี มีธรรม) เฉพาะตนของชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า "ชาวอโศก" ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความผาสุขในสังคมไทย สมาชิกในชุมชนจะลดความเห็นแก่ตัว จะเสียสละ ซึ่งเรียกว่า "บุญ" จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านวัฒนธรรมของโลก เรียกว่า "วัฒนธรรมแบบบุญนิยม" ซึ่งสวนทางกับกระแสหลักของชาวโลกที่เป็น "วัฒนธรรมแบบทุนนิยม" และกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้ในยุคนี้
     ลักษณะที่เด่นชัดของสังคมชาวอโศก คือ มีอุดมการณ์ของตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า เคร่งครัดในศีลธรรม โดยมีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระสัทธรรม มีพ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
พ่อครูหรือพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เป็นผู้แสดงธรรมถ่ายทอดอธิบายธรรมในแนวโลกุตรธรรม มุ่งเน้นให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้มรรคผลเป็นอริยบุคคล เป็นผู้มีลักษณะบุคลิกภาพขั้นต่ำ คือ "ถือศีล ๕  ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ" มีอุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ประหยัดเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณโภคี  คือ ผลผลิตมวลรวมทั้งชุมชนของสมาชิกแต่ละคน  นำมารวมกันเป็นสมบัติกองกลาง เป็นของส่วนกลาง มีคณะผู้รับใช้เป็นกรรมการชุมชน มีสมณะ สิกมาตุ นักบวชของชาวอโศก เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นปุโรหิต ร่วมประชุมวางแผน กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนไปตามแนวทางอุดมคติ อุดมการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น ทรัพย์สมบัติที่พอช่วยเหลือสังคมข้างนอกชุมชนได้ก็จะพยายามสะพัดออกไป เช่น การจัดตลาดอาริยะ คือขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุน(ขาดทุนคือกำไร หรือบุญของเรา)

การตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเป็นศิลปอันติมะ ของชาวอโศก  

วัฒนธรรมบุญนิยมของชาวอโศก แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

๑. วัฒนธรรมด้านองค์กรของชาวอโศก

      สถาบันบุญนิยม เป็นองค์กรสูงสุดของชาวอโศก ได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย มีธรรมนูญของสถาบัน ประกอบด้วยคณะทำงาน ๒ สภา คือ
     ๑. สภาของนักบวช ประธานสภาของนักบวช คือ พ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ โดยมีสมณะปัจฉา เป็นคณะเลขานุการ
     ๒. สภาของฆราวาส ประธานสภาของฆราวาสคือ นายธำรงค์ แสงสุริยะจันทร์ โดยมี นายข้าพุทธ ขาวดารา เป็นเลขานุการ คณะกรรมการมาจากผู้แทน ๑๒ องค์กรของชาวอโศก องค์กรละ ๑ ท่าน และผู้แทนแม่ข่ายชุมชนชาวอโศก จากพุทธสถาน และสังฆสถาน อีก ๙ ท่าน
     สำนักงานของสถาบันบุญนิยม ตั้งอยู่ที่ ชั้น ๓ ตึกพลังบุญ  ซอย ๔๘ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร    
     หน้าที่ของสถาบันบุญนิยม มีหน้าที่กำหนดนโยบายของชาวอโศก การขับเคลื่อนนโยบาย การกำกับติดตามผลการปฏิบัติ มีองค์กรย่อยที่ขึ้นตรงต่อสถาบันบุญนิยม ๑๒ องค์กร ดังนี้

          ๑. ศาสนาบุญนิยม ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม ชมรม ต่างๆ ของชาวอโศก
          ๒. ชุมชนบุญนิยม ได้แก่ ชุมชนบุญนิยมที่เป็นแม่ข่ายหลักของชาวอโศก ๙ แห่ง
          ๓. การศึกษาบุญนิยม ได้แก่ โรงเรียนสัมมาสิกขา มหาลัยวังชีวิต(มวช.ศีล๘) วิทยาลัยบรรดาบัณฑิตบุญนิยม (วบบบ.)
          ๔. บริโภคบุญนิยม ได้แก่ ร้านอาหารชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย โรงครัวกลางของชุมชน
          ๕. พาณิชย์บุญนิยม ได้แก่ ร้านค้าของชาวอโศก ตั้งอยู่ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก
          ๖. กสิกรรมบุญนิยม ได้แก่ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย
          ๗. อุตสาหกิจบุญนิยม ได้แก่ โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ โรงงานยาสมุนไพร โรงซ่อมเครื่องจักรเครื่องกลหนัก
          ๘. การเมืองบุญนิยม ได้แก่ พรรคเพื่อฟ้าดิน ตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ มีอุดมการณ์ของพรรค คือ "เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศเป็นไท" น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นหัวหน้าพรรค เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นเลขาธิการพรรค
          ๙. ศิลปวัฒนธรรมบุญนิยม ได้แก่ ประเพณีการบวชของชาวอโศก ประเพณีการตักบาตรทำบุญด้วยอาหารมังสวิรัติ ประเพณีการเผาศพ วัฒนธรรมการแต่งกายแบบพื้นบ้าน นิยมความเป็นไทย การทักทายด้วยคำว่า "เจริญธรรม", "สำนึกดี"  วัฒนธรรมการแยกขยะ
        ๑๐. สื่อสารบุญนิยม ได้แก่ โรงพิมพ์วารสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ สื่อบันทึกเท็ป ดีวีดี สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV )
       ๑๑. สุขภาพบุญนิยม ได้แก่ ศาลาสุขภาพ การดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง สมุนไพรไทย
       ๑๒. สถาบันขยะวิทยาด้วยหัวใจ ได้แก่ การรับบริจาคสิ่งของ การคัดแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV ) ตามโครงการ "ดินอุ้มดาว"

๒. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างทางสังคม ชุมชนชาวอโศก (Social Organization)

ประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน
๑. บ้านหรือชุมชน ประกอบด้วยผู้คนที่ปฏิบัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ
๒. วัดหรือพุทธสถาน ประกอบด้วย นักบวชชาย เรียกว่า "สมณะ " แปลว่าผู้สงบระงับจากกิเลส และนักบวชหญิง เรียกว่า "สิกขมาตุ" แปลว่านักศึกษาฝ่ายหญิง ปฏิบัติศีล ๑๐
๓. โรงเรียน ประกอบด้วย เด็กนักเรียน ตาม พ.ร.บ.การศึกษาสงเคราะห์ ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา มีคุรุ หรือครูผู้สอนที่ไม่มีเงินเดือน นักเรียนกินอยู่ฟรี ไม่มีค่าเล่าเรียน แบบอยู่พักค้างประจำ ระบบการจัดการศึกษา เป็นแบบตามอัธยาศัย เป้าหมายการศึกษาเน้นตามความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน มีปรัชญาการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" ปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา "ศีลเต็ม เข้มงาน สืบสานวิชา"

๓. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างเครือข่าย หรือเครือแหของชาวอโศก (Asoke Social Network) 

ประกอบด้วยชุมชนที่เป็น  พุทธสถาน ชาวชุมชน และโรงเรียน ๗ แห่ง ได้แก่
   ๑) พุทธสถานสันติอโศก ๖๕/๑ ซ.เทียมพร ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐  โทร.๐๒-๓๗๔-๕๒๓๐
   ๒) พุทธสถานปฐมอโศก ๖๖ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ โทร.๐๓๔-๒๕๘๔๗๐-๑
   ๓) พุทธสถานศาลีอโศก ๑๑๖ หมู่ ๓ ต.โคกเดื่่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ๖๐๒๒๐ โทร. ๐๕๖-๒๕๙๒๑๗
   ๔) พุทธสถานศีรษะอโศก ๒๘๗ หมู่ ๑๕ ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ๓๓๑๑๐ โทร. ๐๔๕-๖๓๕๗๖๗
   ๕) พุทธสถานสีมาอโศก ๙๔ หมู่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราสีมา ๓๐๐๐๐ โทร. ๐๔๔-๒๑๒๗๙๗
   ๖) พุทธสถานราชธานีอโศก หมู่ ๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐ โทร.๐๔๕-๒๔๗๒๒๒
   ๗) พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ๓๑/๑ หมู่ ๕ บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๕๐ โทร. ๐๕๓-๒๒๘๕๕๗-๙
และชุมชนที่เป็น สังฆสถาน และชาวชุมชน  ๒ แห่ง ได้แก่
  ๑) สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ ๒๖๖ หมู่ ๑ ซ.สุขาภิบาล ๕ ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ๓๖๑๕๐ โทร.๐๔๔-๘๑๐๐๙๕
  ๒) สังฆสถานทะเลธรรม ๔๑ หมู่ ๓ ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ๙๒๐๐๐ โทร.๐๗๕-๒๒๖๑๙๖
และชุมชนชาวอโศกที่ไม่มีนักบวชอยู่ประจำ ๒๐ กว่าแห่งทั่วประเทศไทย

๔. วัฒนธรรมด้านการเงิน 

ชาวอโศก มีระบบการจัดการด้านการเงิน คือ สมาชิกชาวชุมชนแต่ละคนจะไม่ก่อหนี้ หรือเป็นหนี้ใดๆทั้งสิ้น ถ้ามีเงินสดเป็นการส่วนตัว(ผู้ที่ปฏิบัติ ศีล ๕ ศีล ๘) ก็ให้นำไปฝากเป็นเงินกองบุญของชุมชน จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับดอกบุญ เพื่อชุมชนจะได้นำ ๖๐ % ของเงินกองบุญนี้ ไปเป็นทุนใช้หมุนเวียนในกิจการฐานงานต่างๆ  นอกจากนี้ยังมีระบบ "เงินเกื้อ" และ "เงินหนุน" โดยไม่คิดดอกเบี้ยแก่สมาชิกในชุมชนที่มีความจำเป็น (เงินเกื้อ คือ ขอยืมเงิน เงินหนุน คือ ให้ยืมเงิน)

๕. วัฒนธรรมด้านเศรษฐกิจ

 ยึดหลักเศรษฐกิจแบบบุญนิยม คือ "เศรษฐกิจบุญนิยม คนจนรู้จักพอ แต่เศรษฐกิจทุนนิยม คนรวยไม่รู้จักพอ" มีจุดเน้นนโยบายใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณะโภคี คือ ทำงานเสียสละ ๑๐๐ % (เสียภาษี ๑๐๐%) ผลตอบแทน ผลผลิตทั้งหมดนำเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ทุกคนจะมีฐานะยากจนเท่าเทียมกัน แต่ระบบทรัพยากรส่วนกลางจะมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีสมบัติส่วนกลางมากมาย เช่น ร้านค้า ที่ดินทำไร่ ที่ดินทำนา ที่ดินทำสวน มีเครื่องจักรกล มีพาหนะรถยนต์ เรือต่างๆ เครื่องทุ่นแรง มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงสีข้าวขนาดใหญ่ มีระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสารคมนาคม มีเครื่องมือสื่อสาร สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชนผ่านดาวเทียม (FMTV) มีโรงพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถ้าสมาชิกที่เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ ถือศีล ๕ ละอบายมุข ๖ ทานอาหารมังสวิรัติได้เป็นปกติ ทำงานให้กับส่วนกลางทั้งหมด เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ เดือน จะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการจากระบบสาธารณโภคีฟรี

๖. วัฒนธรรมด้านชุมชนบุญนิยม

ชุมชนบุญนิยมชาวอโศก เป็นชุมชนนักปฏิบัติธรรมที่เน้นการพึ่งตนเอง ผู้ที่เป็นสมาชิกชุมชนต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานคือ "ถือศีลห้า ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ" การปลูกบ้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นเขต ตามปฏิปทาที่ได้สมาทานศีล ได้แก่ 
     เขตฆราวาสปฏิบัติศีล ๕ อยู่ในที่ดินของส่วนกลางของมูลนิธิ หรือสมาคม
     เขตคนวัดปฏิบัติศีล ๘ อยู่ในที่พักส่วนกลางภายในตามฐานงานต่างๆ เช่น โรงครัวกลาง
     เขตนักบวชหญิง(สิกขมาตุ)ปฏิบัติศีล ๑๐ อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสิกขมาตุ
     เขตนักบวชชาย(สมณะ)ปฏิบัติศีลปาฏิโมกข์(จุลศีล มัฌิมศีล และมหาศีล) อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสมณะ
อาคารสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนกลางสมาชิกในชุมชนมีส่วนไปใช้ร่วมกัน ได้แก่
     ๑. ศาลาฟังธรรม
     ๒. โรงครัวกลาง
     ๓. ศาลาสุขภาพ
     ๔. โรงซ่อม โรงเครื่องมือ โรงจอดรถยนต์
     ๕. ห้องสมุด
     ๖. ห้องน้ำรวม แยกชาย-หญิง
     กิจกรรมสำคัญที่สมาชิกในชุมชนควรได้มาพบปะกัน(Social Interaction) ได้แก่
     ๑. ๐๓.๔๕-๐๕.๓๐ น. สวดมนต์ฟังธรรม ที่ศาลาฟังธรรม
     ๒. ๐๖.๐๐-๐๘.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ
     ๓. ๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น. วันเสาร์ ตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ หน้าศาลาฟังธรรม
     ๔. ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ฟังธรรมก่อนฉันภัตตาหาร  ที่ศาลาฟังธรรม และรับประทานอาหารร่วมกัน
     ๕. ๑๓.๐๐-๑๕.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ 
     ๖. ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น สำหรับเด็ก และผู้รับประทานอาหาร ๒ มื้อ(ศีล ๕) ที่โรงครัวกลาง
     ๗. ๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น.ชมรายการผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม FMTV
     ๘. ประชุมประจำเดือนชาวชุมชน เดือนละ ๑ ครั้ง



วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การทำปุ๋ยจากขยะเปียก


หัวใจหลักการทำกสิกรรมไร้สารพิษ มี 4 องค์ประกอบหลัก ดังภาพ



นำสิ่งที่ไร้ค่าเช่นขยะเปียกในครัวเรือน
มาแปรเปลี่ยนเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อโลก
ด้วยวิธีการแช่อิ่ม แล้วนำไปราดหน้า เพื่อปรับโครงสร้างดินหรือทำปุ๋ยหมัก


ในภาพนี้คือลักษณะของราสีขาว หรือจุลินทรีย์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ
จากการหมักขยะเปียก