วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปกิณกะกสิกรรมไร้สารพิษ



แผนผังเส้นทางไปชุมชนบุญนิยมสีมาอโศก
ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร.๐๔๔-๒๑๒๗๙๗
ปลูกผักโชว์ ในพื้นที่จำกัด เป็นการจัดสวนข้างบ้าน ข้างครัว

การเพาะปลูกพืชผักในพื้นที่ไม่มีที่ดิน เหมาะสำหรับคนในเมือง โดยดัดแปลงล้อยางรถยนต์
การเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพแบบพอเพียง ลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยไม่ต้องซื้อกากน้ำตาล


ภาพการหมักขยะเปียกจากครัวเรือน ใช้เวลา ๓-๕ วัน จะเป็นกรดชีวภาพค่า pH 4-5
ความเป็นกรดชีวภาพจะไปย่อยสลายกองปุ๋ยหมัก
ภาพแสดง : วงจรนาฬิกาควบคุมการรดน้ำพืชผักอัตโนมัติ แบบแบ่งโซนรดน้ำ



วาล์วผสมปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ และกรองเกษตร เพื่อผสมปุ๋ยรดน้ำพืชผัก โดยไม่ต้องใช้เครื่องพ่น


ภาพการถากหญ้าเตรียมแปลงปลูกผัก แบบไม่ต้องไถดิน
ประโยชน์ของขยะเปียกในครัวเรือนนำมาหมักทำปุ๋ย นำไปเทราดแปลงเพาะปลูกป้องกันแมลงรบกวน
ภาพการฉีดพ่นละอองน้ำรดผักผสมกับน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ พืชผักงอกงามดีมาก










การศึกษาบุญนิยม


เด็กสัมมาสิกขาสีมาอโศก กับห้องเรียนธรรมชาติในป่าของชุมชนบุญนิยมสีมา

         หลักการจัดการศึกษาของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า วิชชา จรณะสัมปัณโณ  คือ ให้มีความรู้ดี และประพฤติดี ให้รู้อะไรเป็นบุญควรทำ อะไรเป็นบาปต้องงดเว้น กำหนดไว้ในหลักศีล ๕ หรือเบญจศีล และเบญจธรรม เป็นขั้นพื้นฐาน และอีกหลากหลายคำสอนในพระธรรม
ส่วนการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีนักปราชญ์ เช่น ท่านพุทธทาส กล่าวว่า การศึกษาของเมืองไทย เหมือนหมาหางด้วนคือ มีแต่ความรู้ แต่ขาดศีลธรรม จริยธรรม  หัวโตสมองโต แต่ทำงานไม่เป็น พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ กล่าวว่า การศึกษาที่ไม่ลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้
ดังนั้นผลผลิตของการจัดการศึกษาที่ถูกต้อง ควรเป็นดังนี้
๑.       ลดความเห็นแก่ตัว หรือลดกิเลส
๒.     มีจิตสาธารณะมากขึ้น เสียสละมากขึ้น
๓.      เป็นการจัดการศึกษาเพื่อช่วยพัฒนาคน ให้ไปช่วยคนอื่นอีกต่อๆไป ขยายไปเรื่อยๆ ให้มีคนดีที่ชาติต้องการมากขึ้นๆ ทั้งประเทศ
ถาม : แล้วเราจะจัดการศึกษาอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ มีผลผลิตของการจัดการศึกษาที่ควรจะเป็น
ตอบ : ต้องจัดการศึกษาแบบบุญนิยม
ถาม : การศึกษาแบบบุญนิยม มีลักษณะเด่นอย่างไร
ตอบ :
๑.       เปิดโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษา
๒.     เป็นการจัดการศึกษาที่ตรงกันข้ามกับ การศึกษาแบบ ทุนนิยม คนรวยมีสิทธิ์เรียนสูง คนจนหมดสิทธิ์
๓.      ไม่มีเงินเป็นตัวตั้ง หรือตัวกำหนดใดๆ ไม่ต้องมีเงินงบประมาณ
๔.      เป็นการจัดการศึกษาแบบ เรียนฟรี กินอยู่ ฟรี และทำงานฟรี
๕.      ผู้สอนไม่มีรายได้ หรือเงินเดือน คือ สอนฟรี
ถาม : การศึกษาแบบบุญนิยม มีตัวอย่างให้ศึกษาดูได้ที่ใดบ้าง
ตอบ : ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก
                คำถามและคำตอบ ที่กล่าวมานี้ เป็นการนำท่านสู่ บทความเรื่อง การศึกษาบุญนิยมดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน แต่ชาวบุญนิยมในสังคมชาวอโศก มีจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างนี้จริงๆ เราจะทำในสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะรู้ว่าสิ่งที่ทำได้ยากนั้น คือทางออกของปัญหาการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
                ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก โครงสร้างของชุมชนจะประกอบด้วย บ้าน วัด และโรงเรียน จะเป็นสังคมที่อบอุ่น เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันเสียสละ มีโครงสร้างประชากรทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้ชรา ไม่แปลกแยกเหมือนหมู่บ้านในชนบททั่วๆไปของเมืองไทยในยุคนี้  ที่มีแต่ผู้ชราและเด็กเฝ้าบ้าน ส่วนวัยแรงงานเข้าไปหาเงินอยู่ในเมืองใหญ่ หรือไปหาเงินขายแรงงานอยู่ต่างประเทศ แล้วก็ส่งเงินกลับไปให้ผู้ที่อยู่ทางบ้าน ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ก็จะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน ทำให้เกิดปัญหาจราจร เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตายครั้งละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ศพ นี้คือภาพของความล้มเหลวของการจัดการศึกษาของเมืองไทย ที่มีเงินเป็นตัวตั้ง จัดการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเงินงบประมาณสูงที่สุดของประเทศ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษาที่ล้มเหลวได้ มีเรื่องอื้อฉาวทุจริตในวงการราชการ เช่น ทุจริตการสอบเข้าตำรวจ ทุจริตการสอบบรรจุครู ทุจริตการสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ อบต. เป็นต้น
เราเรียนในสิ่งที่จำเป็นของชีวิต คือการทำนา


นี่คือผลงานของการศึกษา ข้าวคืออาหารของมนุษย์
        
           ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณโภคี เมื่อเข้ามาสัมผัสชีวิตจริงของชุมชนบุญนิยมชาวอโศกแล้ว ได้ฟังคำว่า สาธารณโภคี รู้สึกคุ้นหู แต่ก็ยังแปลก  สาธารณโภคี มีอุดมคติอย่างแรงกล้า ๔ ข้อ คือ
๑.       แรงงานฟรี
๒.     ปลอดหนี้
๓.      ไม่มีดอกเบี้ย
๔.      เฉลี่ยทรัพย์เข้ากองบุญ
โดยผู้มาอยู่จะต้องทำงานให้ส่วนกลาง ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือน กินอยู่กับส่วนกลาง ช่วยกันทำงานตามความสามารถ ตามความถนัด เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยช่วยกันดูแลรักษา ความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย ส่วนกลางของชุมชนจะดำเนินการให้ตามฐานะของสมาชิกในชุมชนซึ่งมีหลายระดับ และถ้าเป็นผู้มาอยู่ใหม่จะพิจารณาการดูแลตามความเหมาะสม ค่าตอบแทนที่สูงค่ากว่าเงินทอง ที่มอบให้แต่ละคนนั้น คือ การลดละกิเลสในตน ฝึกฝนให้นำไปสู่ความพ้นทุกข์นั้นๆ ตามขั้นตอน
ครู หรือ คุรุ ผู้สอนต้องตั้งตนให้สมควรก่อน ทำได้ก่อนจึงสอนเด็ก
ภาพผลผลิตกล้วยหอม ที่ครูได้ทดลองปลูกให้เด็กได้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นสื่อการสอน

                การศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก เป็นการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชุน เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส มุ่งสู่โลกุตตระ จัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
  “ศีลเด่น เป็นงาน ชำนาญวิชา คือ ปรัชญาการศึกษาระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
  “ศีลเข้ม เก่งงาน สืบสานวิชา คือ ปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา
                ระเบียบการรับสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กำหนดรับสมัครประมาณวันที่ ๗ เมษายน มีขั้นตอน ดังนี้
๑.       ในระดับประถมศึกษา ผู้ปกครองต้องเข้ามาอยู่ประจำในชุมชนด้วย โดยเลือกเข้ามาทำงานในฐานงานต่างๆ กินอยู่ฟรี เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองเนื่องจากเด็กนักเรียนยังดูแลตนเองไม่ได้
๒.     นำบุตรหลานเข้าไปในชุมชนของชาวอโศก ฟังธรรม รับประทานอาหารมังสวิรัติร่วมกัน พักค้างคืน ฝึกเข้าฐานงานต่างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย
๓.      ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต้องมีความสนใจในระบบการศึกษาแบบบุญนิยม
๔.      สมัครเข้าค่าย อบรมยุวพุทธ เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน เพื่อดูตัวนักเรียน
๕.      สอบข้อเขียนในวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา
๖.       สอบสัมภาษณ์เด็ก และผู้ปกครอง โดยสมณะ
๗.      คุรุและสมณะร่วมประชุมประเมินผลการคัดเลือกเด็ก เพื่อรับเข้าเรียน และประกาศผล
๘.      มอบตัวเข้าเรียน และทำพิธีรับชุดนักเรียนสัมมาสิกขาฟรี
๙.       ไม่รับย้ายนักเรียนจากระบบการศึกษาทั่วไป ถ้าต้องการมาเรียนการศึกษาแบบบุญนิยมต้องเริ่มต้นใหม่ ในชั้น ม.๑
                ระเบียบการรับสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก ในระดับอุดมศึกษา มีขั้นตอน ดังนี้
๑.       เป็นศิษย์เก่านักเรียนสัมมาสิกขา จบชั้น ม.๖
๒.     ถ้าไม่ใช่ศิษย์เก่าต้องเข้ามาศึกษาวิถีชีวิต อยู่ในชุมชนเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๑ ปี
เด็กนักเรียน ร.ร.บ้านหนองระเวียง อ.เมือง จ.นม. มาศึกษาดูงาน  เมื่อ ๑๙ พ.ย.๕๔

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การเผาศพของชาวอโศก

ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตนี้ไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความชราภาพอยู่ทุกขณะ

ทุกคนต้องลาโลก ละสังขาร ผู้เป็นญาติ บุตรหลาน ของผู้วายชนม์ จึงควรทำกิจครั้งสุดท้ายของท่าน เรียกว่า "ฌาปนกิจศพ"

ภาพที่ประกอบบทความนี้ เป็นการจัดงานศพญาติธรรมชาวอโศก ที่พุทธสถานสีมาอโศก เป็นบรรพชนชาวอโศกซึ่งเข้ามาอยู่ในชุมชนตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ รวมเวลาที่เข้ามาปฏิบัติธรรม ๒๖ ปีคือ คุณยายเกิดบุญ ชาญณรงค์ อายุ ๙๗ ปี ๗ เดือน ถึงแก่กรรมเมื่อ เวลา ๐๘.๑๕ น.วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ และทำการฌาปนกิจศพ เมื่อ ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ณ เมรุกองฟอนแบบเรียบง่ายในยุคโบราณ ณ พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายใดๆ โดยมีพ่อครูสมณะโพธิรักษ์เป็นประธาน

อาบน้ำแต่งกายให้ศพ ญาติธรรมจะช่วยกันไม่ต้องจ้างสัปเหร่อ
ญาติธรรมช่วยกันนำร่างผู้วายชนม์ไปที่ศาลาเพื่อทำพิธีรดน้ำศพ
รด น้ำศพ ๘ ต.ค.๕๕

สมณะแสดงธรรมหน้าศพ ก่อนฉันภัตตาหาร ๙ ต.ค.๕๕




สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ แสดงธรรมหน้าศพ ๙ ต.ค.๕๕ เวลา ๑๙.๐๐-๒๐.๐๐ น.



 บันทึกภาพเป็นที่ระลึก


พ่อครูสมณะโพธิรักษ์นำขบวนเคลื่อนศพสู่เชิงตะกอนกองฟอน


ญาติธรรม ญาติ บุตรหลาน มาร่วมงานศพประมาณ ๕๐๐ คน


พ่อครูสมณะโพธิรักษ์แสดงธรรมให้มรณะสติแก่ผู้มาร่วมงานประมาณ ๑๐ นาที



 พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธานประชุมเพลิงศพ เวลา ๑๓.๐๐ น. ๑๑ ต.ค.๕๕


ประเพณีการฌาปนกิจศพแบบบุญนิยมของชาวอโศก จะเน้นการประหยัด เรียบง่าย ไม่เล่นการพนัน ไม่มีเหล้า บุหรี่ ไม่ฆ่าสัตว์เพื่อจัดงานศพ ไม่จุดธูปเทียน
เมื่อสมาชิกชาวชุมชนบุญนิยมชาวอโศกเสียชีวิต ก็จะต้องช่วยกันจัดการศพ โดยแบ่งงานหน้าที่กัน ได้แก่ ขั้นตอนต่างๆ ประมาณ ๑๐ ขั้นตอน โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ดังน้
๑. ไปแจ้งตายต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อรับใบมรณบัตร
๒. อาบน้ำศพ แต่งตัวใส่เสื้อผ้าให้ศพ
๓. จัดหาโลงศพ
๔. เตรียมที่ตั้งศพในศาลา ๓ วัน
๕. รดน้ำศพ
๖. แสดงธรรมหน้าศพก่อนฉันภัตตาหาร ๐๙.๐๐ น. และในเวลา ๑๙.๐๐ น. ไม่มีการสวดพระอภิธรรม ไม่กรวดน้ำ ไม่ถวายข้าวพระพุทธเจ้า ไม่นำอาหารจัดให้ผู้วายชนม์
๗. เตรียมเมรุเผาศพ หรือตั้งกองฟอนด้วยไม้ในที่โล่งแจ้ง
๘. สมณะกล่าวแสดงธรรมหน้าเมรุก่อนประชุมเพลิง ไม่มีการทอดผ้าบังสกุล ไม่มีการโยนทาน
๙. ประชุมเพลิงศพ
๑๐. เก็บอัฐิ อังคาร
การสร้างเมรุเผาศพ

    หลังจากเสร็จสิ้นงานเผาศพคุณยายเกิดบุญ ชาญณรงค์ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ชาวชุมชนสีมาอโศก มีดำริจะปรับปรุงสร้างเมรุเผาศพแบบเรียบง่าย ยังคงมีสภาพเป็นการเผาแบบเตาเปิด ใช้ฟืน ถ่าน ซึ่งหาได้ง่ายในชุมชนเป็นเชื้อเพลิง
   
     ทางชุมชนมอบให้ผู้เขียนบทความนี้ เป็นผู้ประสานงาน ผมจะสร้างอย่างไรดี เป็นงานที่ผมไม่เคยทำมาก่อนเลย ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย  ขอให้เพื่อนๆช่วยเสนอแนะด้วยครับ ผมต้องการความหลากหลายในความเห็นเรื่องนี้นะครับ ภาพที่โพสมานี้เป็นแนวทางที่ทางสีมาอโศกจะดำเนินการนะครับ เป็นแนวทางที่ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์กันมาบ้างแล้วในที่ประชุมของชาวชุมชน ดังนี้

     ๑. สถานที่ก่อสร้างเมรุใกล้กับื้นที่ส่วนในของวัด ติดกับลานต้นโพธิ์ใหญ่ด้านทิศตะวันตก ไม่ควรมีการก่อสร้างที่เผาศพ แต่ไม่มีที่อื่นใดที่เหมาะสมกว่า มติจึงให้สร้างเมรุแบบถอดประกอบได้ เนื่องจากนานๆ จะมีคนในวัดเสียชีวิต และไม่รับเผาศพที่ไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมชาวอโศก เป็นการเผาศพแบบกองฟอนแต่จะปรับปรุงให้ดูดีขึ้น
     
     ๒. บริเวณพื้นที่เผาศพจะจัดเป็นนิทรรศการวิถีชีวิตนักปฏิบัติธรรมก่อนตาย จะมีนักศิลปะกรรมต่างชาติเข้ามาช่วยปั้นภาพนูนต่ำประดับเสารอบๆเมรุ ได้ประสานงานกับร้านอำแดง ที่ด่านเกวียน ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นจิตอาสาจากชาวต่างชาติ จากอเมริกา ยุโรป
     
     ๓. ที่ปลงศพใช้วัสดุสแตนเลสทั้งหมด ถ้าฝนตกก็จะมีหลังคาทรงกลมต่างระดับ ๕ ชั้น ถ้าฝนไม่ตกก็ไม่ต้องใช้ หลังคาถอดประกอบได้ ๖ ชิ้น
     

     ๔. เมื่อไม่มีการเผาศพบริเวณนี้จะใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อน เป็นที่เพาะกล้าข้าวในถาดเพาะเพื่อนำไปโยนในแปลงนา มีลักษณะเป็นลานหิน สลับกับหญ้า เป็นนิทรรศการของนักปฏิบัติธรรมชาวอโศก ในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบบชาวพุทธที่เคร่งครัดในศีลธรรม ได้แก่ ภาพปั้นดินเผาการฟังธรรม ภาพปั้นฯการบำเพ็ญบุญ ภาพปั้นฯการตั้งโรงทานแจกอาหาร การทำกสิกรรมไร้สารพิษ และภาพปั้นฯฐานงานต่างๆ ดังภาพที่แสดงนี้








วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมของชาวอโศก

     คำว่า "วัฒนธรรม" เป็นนามธรรม เป็นพฤติกรรม เป็นพฤติภาพ ที่ดีงามของสังคมมนุษย์ ในกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชาวอโศกก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เป็นอัตลักษณ์(พึ่งตน จนผู้อื่นพึ่งได้) และเอกลักษณ์(ทำดี มีธรรม) เฉพาะตนของชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า "ชาวอโศก" ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความผาสุขในสังคมไทย สมาชิกในชุมชนจะลดความเห็นแก่ตัว จะเสียสละ ซึ่งเรียกว่า "บุญ" จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านวัฒนธรรมของโลก เรียกว่า "วัฒนธรรมแบบบุญนิยม" ซึ่งสวนทางกับกระแสหลักของชาวโลกที่เป็น "วัฒนธรรมแบบทุนนิยม" และกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้ในยุคนี้
     ลักษณะที่เด่นชัดของสังคมชาวอโศก คือ มีอุดมการณ์ของตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า เคร่งครัดในศีลธรรม โดยมีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระสัทธรรม มีพ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
พ่อครูหรือพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เป็นผู้แสดงธรรมถ่ายทอดอธิบายธรรมในแนวโลกุตรธรรม มุ่งเน้นให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้มรรคผลเป็นอริยบุคคล เป็นผู้มีลักษณะบุคลิกภาพขั้นต่ำ คือ "ถือศีล ๕  ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ" มีอุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ประหยัดเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณโภคี  คือ ผลผลิตมวลรวมทั้งชุมชนของสมาชิกแต่ละคน  นำมารวมกันเป็นสมบัติกองกลาง เป็นของส่วนกลาง มีคณะผู้รับใช้เป็นกรรมการชุมชน มีสมณะ สิกมาตุ นักบวชของชาวอโศก เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นปุโรหิต ร่วมประชุมวางแผน กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนไปตามแนวทางอุดมคติ อุดมการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น ทรัพย์สมบัติที่พอช่วยเหลือสังคมข้างนอกชุมชนได้ก็จะพยายามสะพัดออกไป เช่น การจัดตลาดอาริยะ คือขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุน(ขาดทุนคือกำไร หรือบุญของเรา)

การตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเป็นศิลปอันติมะ ของชาวอโศก  

วัฒนธรรมบุญนิยมของชาวอโศก แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

๑. วัฒนธรรมด้านองค์กรของชาวอโศก

      สถาบันบุญนิยม เป็นองค์กรสูงสุดของชาวอโศก ได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย มีธรรมนูญของสถาบัน ประกอบด้วยคณะทำงาน ๒ สภา คือ
     ๑. สภาของนักบวช ประธานสภาของนักบวช คือ พ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ โดยมีสมณะปัจฉา เป็นคณะเลขานุการ
     ๒. สภาของฆราวาส ประธานสภาของฆราวาสคือ นายธำรงค์ แสงสุริยะจันทร์ โดยมี นายข้าพุทธ ขาวดารา เป็นเลขานุการ คณะกรรมการมาจากผู้แทน ๑๒ องค์กรของชาวอโศก องค์กรละ ๑ ท่าน และผู้แทนแม่ข่ายชุมชนชาวอโศก จากพุทธสถาน และสังฆสถาน อีก ๙ ท่าน
     สำนักงานของสถาบันบุญนิยม ตั้งอยู่ที่ ชั้น ๓ ตึกพลังบุญ  ซอย ๔๘ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร    
     หน้าที่ของสถาบันบุญนิยม มีหน้าที่กำหนดนโยบายของชาวอโศก การขับเคลื่อนนโยบาย การกำกับติดตามผลการปฏิบัติ มีองค์กรย่อยที่ขึ้นตรงต่อสถาบันบุญนิยม ๑๒ องค์กร ดังนี้

          ๑. ศาสนาบุญนิยม ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม ชมรม ต่างๆ ของชาวอโศก
          ๒. ชุมชนบุญนิยม ได้แก่ ชุมชนบุญนิยมที่เป็นแม่ข่ายหลักของชาวอโศก ๙ แห่ง
          ๓. การศึกษาบุญนิยม ได้แก่ โรงเรียนสัมมาสิกขา มหาลัยวังชีวิต(มวช.ศีล๘) วิทยาลัยบรรดาบัณฑิตบุญนิยม (วบบบ.)
          ๔. บริโภคบุญนิยม ได้แก่ ร้านอาหารชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย โรงครัวกลางของชุมชน
          ๕. พาณิชย์บุญนิยม ได้แก่ ร้านค้าของชาวอโศก ตั้งอยู่ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก
          ๖. กสิกรรมบุญนิยม ได้แก่ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย
          ๗. อุตสาหกิจบุญนิยม ได้แก่ โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ โรงงานยาสมุนไพร โรงซ่อมเครื่องจักรเครื่องกลหนัก
          ๘. การเมืองบุญนิยม ได้แก่ พรรคเพื่อฟ้าดิน ตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ มีอุดมการณ์ของพรรค คือ "เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศเป็นไท" น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นหัวหน้าพรรค เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นเลขาธิการพรรค
          ๙. ศิลปวัฒนธรรมบุญนิยม ได้แก่ ประเพณีการบวชของชาวอโศก ประเพณีการตักบาตรทำบุญด้วยอาหารมังสวิรัติ ประเพณีการเผาศพ วัฒนธรรมการแต่งกายแบบพื้นบ้าน นิยมความเป็นไทย การทักทายด้วยคำว่า "เจริญธรรม", "สำนึกดี"  วัฒนธรรมการแยกขยะ
        ๑๐. สื่อสารบุญนิยม ได้แก่ โรงพิมพ์วารสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ สื่อบันทึกเท็ป ดีวีดี สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV )
       ๑๑. สุขภาพบุญนิยม ได้แก่ ศาลาสุขภาพ การดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง สมุนไพรไทย
       ๑๒. สถาบันขยะวิทยาด้วยหัวใจ ได้แก่ การรับบริจาคสิ่งของ การคัดแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV ) ตามโครงการ "ดินอุ้มดาว"

๒. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างทางสังคม ชุมชนชาวอโศก (Social Organization)

ประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน
๑. บ้านหรือชุมชน ประกอบด้วยผู้คนที่ปฏิบัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ
๒. วัดหรือพุทธสถาน ประกอบด้วย นักบวชชาย เรียกว่า "สมณะ " แปลว่าผู้สงบระงับจากกิเลส และนักบวชหญิง เรียกว่า "สิกขมาตุ" แปลว่านักศึกษาฝ่ายหญิง ปฏิบัติศีล ๑๐
๓. โรงเรียน ประกอบด้วย เด็กนักเรียน ตาม พ.ร.บ.การศึกษาสงเคราะห์ ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา มีคุรุ หรือครูผู้สอนที่ไม่มีเงินเดือน นักเรียนกินอยู่ฟรี ไม่มีค่าเล่าเรียน แบบอยู่พักค้างประจำ ระบบการจัดการศึกษา เป็นแบบตามอัธยาศัย เป้าหมายการศึกษาเน้นตามความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน มีปรัชญาการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" ปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา "ศีลเต็ม เข้มงาน สืบสานวิชา"

๓. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างเครือข่าย หรือเครือแหของชาวอโศก (Asoke Social Network) 

ประกอบด้วยชุมชนที่เป็น  พุทธสถาน ชาวชุมชน และโรงเรียน ๗ แห่ง ได้แก่
   ๑) พุทธสถานสันติอโศก ๖๕/๑ ซ.เทียมพร ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐  โทร.๐๒-๓๗๔-๕๒๓๐
   ๒) พุทธสถานปฐมอโศก ๖๖ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ โทร.๐๓๔-๒๕๘๔๗๐-๑
   ๓) พุทธสถานศาลีอโศก ๑๑๖ หมู่ ๓ ต.โคกเดื่่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ๖๐๒๒๐ โทร. ๐๕๖-๒๕๙๒๑๗
   ๔) พุทธสถานศีรษะอโศก ๒๘๗ หมู่ ๑๕ ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ๓๓๑๑๐ โทร. ๐๔๕-๖๓๕๗๖๗
   ๕) พุทธสถานสีมาอโศก ๙๔ หมู่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราสีมา ๓๐๐๐๐ โทร. ๐๔๔-๒๑๒๗๙๗
   ๖) พุทธสถานราชธานีอโศก หมู่ ๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐ โทร.๐๔๕-๒๔๗๒๒๒
   ๗) พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ๓๑/๑ หมู่ ๕ บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๕๐ โทร. ๐๕๓-๒๒๘๕๕๗-๙
และชุมชนที่เป็น สังฆสถาน และชาวชุมชน  ๒ แห่ง ได้แก่
  ๑) สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ ๒๖๖ หมู่ ๑ ซ.สุขาภิบาล ๕ ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ๓๖๑๕๐ โทร.๐๔๔-๘๑๐๐๙๕
  ๒) สังฆสถานทะเลธรรม ๔๑ หมู่ ๓ ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ๙๒๐๐๐ โทร.๐๗๕-๒๒๖๑๙๖
และชุมชนชาวอโศกที่ไม่มีนักบวชอยู่ประจำ ๒๐ กว่าแห่งทั่วประเทศไทย

๔. วัฒนธรรมด้านการเงิน 

ชาวอโศก มีระบบการจัดการด้านการเงิน คือ สมาชิกชาวชุมชนแต่ละคนจะไม่ก่อหนี้ หรือเป็นหนี้ใดๆทั้งสิ้น ถ้ามีเงินสดเป็นการส่วนตัว(ผู้ที่ปฏิบัติ ศีล ๕ ศีล ๘) ก็ให้นำไปฝากเป็นเงินกองบุญของชุมชน จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับดอกบุญ เพื่อชุมชนจะได้นำ ๖๐ % ของเงินกองบุญนี้ ไปเป็นทุนใช้หมุนเวียนในกิจการฐานงานต่างๆ  นอกจากนี้ยังมีระบบ "เงินเกื้อ" และ "เงินหนุน" โดยไม่คิดดอกเบี้ยแก่สมาชิกในชุมชนที่มีความจำเป็น (เงินเกื้อ คือ ขอยืมเงิน เงินหนุน คือ ให้ยืมเงิน)

๕. วัฒนธรรมด้านเศรษฐกิจ

 ยึดหลักเศรษฐกิจแบบบุญนิยม คือ "เศรษฐกิจบุญนิยม คนจนรู้จักพอ แต่เศรษฐกิจทุนนิยม คนรวยไม่รู้จักพอ" มีจุดเน้นนโยบายใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณะโภคี คือ ทำงานเสียสละ ๑๐๐ % (เสียภาษี ๑๐๐%) ผลตอบแทน ผลผลิตทั้งหมดนำเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ทุกคนจะมีฐานะยากจนเท่าเทียมกัน แต่ระบบทรัพยากรส่วนกลางจะมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีสมบัติส่วนกลางมากมาย เช่น ร้านค้า ที่ดินทำไร่ ที่ดินทำนา ที่ดินทำสวน มีเครื่องจักรกล มีพาหนะรถยนต์ เรือต่างๆ เครื่องทุ่นแรง มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงสีข้าวขนาดใหญ่ มีระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสารคมนาคม มีเครื่องมือสื่อสาร สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชนผ่านดาวเทียม (FMTV) มีโรงพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถ้าสมาชิกที่เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ ถือศีล ๕ ละอบายมุข ๖ ทานอาหารมังสวิรัติได้เป็นปกติ ทำงานให้กับส่วนกลางทั้งหมด เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ เดือน จะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการจากระบบสาธารณโภคีฟรี

๖. วัฒนธรรมด้านชุมชนบุญนิยม

ชุมชนบุญนิยมชาวอโศก เป็นชุมชนนักปฏิบัติธรรมที่เน้นการพึ่งตนเอง ผู้ที่เป็นสมาชิกชุมชนต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานคือ "ถือศีลห้า ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ" การปลูกบ้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นเขต ตามปฏิปทาที่ได้สมาทานศีล ได้แก่ 
     เขตฆราวาสปฏิบัติศีล ๕ อยู่ในที่ดินของส่วนกลางของมูลนิธิ หรือสมาคม
     เขตคนวัดปฏิบัติศีล ๘ อยู่ในที่พักส่วนกลางภายในตามฐานงานต่างๆ เช่น โรงครัวกลาง
     เขตนักบวชหญิง(สิกขมาตุ)ปฏิบัติศีล ๑๐ อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสิกขมาตุ
     เขตนักบวชชาย(สมณะ)ปฏิบัติศีลปาฏิโมกข์(จุลศีล มัฌิมศีล และมหาศีล) อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสมณะ
อาคารสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนกลางสมาชิกในชุมชนมีส่วนไปใช้ร่วมกัน ได้แก่
     ๑. ศาลาฟังธรรม
     ๒. โรงครัวกลาง
     ๓. ศาลาสุขภาพ
     ๔. โรงซ่อม โรงเครื่องมือ โรงจอดรถยนต์
     ๕. ห้องสมุด
     ๖. ห้องน้ำรวม แยกชาย-หญิง
     กิจกรรมสำคัญที่สมาชิกในชุมชนควรได้มาพบปะกัน(Social Interaction) ได้แก่
     ๑. ๐๓.๔๕-๐๕.๓๐ น. สวดมนต์ฟังธรรม ที่ศาลาฟังธรรม
     ๒. ๐๖.๐๐-๐๘.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ
     ๓. ๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น. วันเสาร์ ตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ หน้าศาลาฟังธรรม
     ๔. ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ฟังธรรมก่อนฉันภัตตาหาร  ที่ศาลาฟังธรรม และรับประทานอาหารร่วมกัน
     ๕. ๑๓.๐๐-๑๕.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ 
     ๖. ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น สำหรับเด็ก และผู้รับประทานอาหาร ๒ มื้อ(ศีล ๕) ที่โรงครัวกลาง
     ๗. ๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น.ชมรายการผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม FMTV
     ๘. ประชุมประจำเดือนชาวชุมชน เดือนละ ๑ ครั้ง



วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การทำปุ๋ยจากขยะเปียก


หัวใจหลักการทำกสิกรรมไร้สารพิษ มี 4 องค์ประกอบหลัก ดังภาพ



นำสิ่งที่ไร้ค่าเช่นขยะเปียกในครัวเรือน
มาแปรเปลี่ยนเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อโลก
ด้วยวิธีการแช่อิ่ม แล้วนำไปราดหน้า เพื่อปรับโครงสร้างดินหรือทำปุ๋ยหมัก


ในภาพนี้คือลักษณะของราสีขาว หรือจุลินทรีย์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ
จากการหมักขยะเปียก

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ล้างพิษตับแบบบุญนิยม....ฟรี 3 วัน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการล้างพิษ

พิกัดที่ตั้งภูมิศาสตร์ (GPS)  ของสีมาอโศก : N 14.892795, E 102.156657

ภาพกิจกรรมเข้าคอร์สล้างพิษตับ

 ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๖

ลงทะเบียนกรอกประวัติ


วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก

ชุดอุปกรณ์ล้างพิษตับพร้อมแจกให้ใช้ประจำตัว


น้ำดื่มล้างพิษลำไส้ปรับสมดุล


ลิตท็อกซ์สวนล้างลำไส้ สูตร 1-2

น้ำด่างอัลคาไลค์
(คุณไทคุง "ชาญวิทย์ มรรคทรัพย์ ผู้รับสายโทรสมัครเข้าคอร์ส)

ออกกำลังกายช่วงเช้า ด้วยท่าแอร์โรบิค
เพิ่มคำอธิบายภาพ

หลังจากออกกำลังกาย ดื่มน้ำล้างพิษ พอกหน้าดูดพิษออกให้หน้าใสเด้ง

คุณชัย คุณอั๋น ผู้เป็นหลักบริจาคทรัพย์และแรงงานจัดคอร์สล้างพิษตับ
วัตถุประสงค์ในการจัดค่ายสุขภาพของชุมชนฯ
๑. เพื่อให้ความรู้และทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยตนเองอย่างประหยัด เรียบง่าย ใกล้ตัว แบบองค์รวม 
๒. เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และวิธีปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ ให้กับคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด
๓. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้ถูกต้องเหมาะสม
๔. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปสู่การมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดียิ่งขึ้น
๕. เพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายของตนเองและลดงบประมาณในการรักษาพยาบาลของประเทศ

เงื่อนไขการรับบริจาค    

    ผู้ที่ประสงค์จะร่วมสมทบทุนเพื่อการจัดค่ายสุขภาพในครั้งต่อๆไป สามารถร่วมบุญได้ตามเงื่อนไขต่อไปนี้
๑. ผู้มีสิทธิบริจาค "เงิน" ให้กับกองทุนค่ายสุขภาพ หรือส่วนกลางของชุมชนชาว
    อโศก ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๑.๑ หรือ ๑.๒ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
    ๑.๑ ต้องเคยมาเข้าวัดฟังธรรม สนทนาธรรม ร่วมกิจกรรมหรือมาคบคุ้นในชุมชนชาวอโศก อย่างน้อย ๗ ครั้ง (เพื่อศึกษาแนวทาง เป้าหมายการปฏิบัติ และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวอโศก ให้เข้าใจจนเกิดศรัทธาด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านอย่างแท้จริง และเพื่อป้องกันการแอบแฝงหาประโยชน์จาก "เงิน" ทั้งทางตรงและทางอ้อม)
    ๑.๒ เคยอ่านหนังสือของชาวอโศก อย่างน้อย ๗ เล่ม
๒. บุคคลทั่วไปนอกเหนือจากข้อ ๑ ยังไม่มีสิทธิ์บริจาคเป็น "เงิน" แต่สามารถร่วมบุญโดยบริจาคเป็นสิ่งของหรือวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมเข้าค่ายล้างพิษ

ระเบียบการสมัครเข้าค่ายสุขภาพล้างพิษตับ-ปรับสมดุล 

จัดโดย คุณบุญชัย และทีมงาน
ณ  ชุมชนบุญนิยมสีมาอโศก
๙๔ หมู่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐

กำหนดวันเข้าคอร์สนี้...จะกำหนดเป็นเดือนต่อเดือน ไม่กำหนดล่วงหน้า

กำหนดวันรับสมัคร เฉพาะวันที่ ๑ ของทุกๆ เดือนเท่านั้น เวลา ๘.๐๐ น. และจะจัดคอร์ส วันศุกร์-อาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ที่ท่านผ่านการสมัครไว้แล้ว ดังนี้


๑. รับสมัครรุ่นละไม่เกิน ๔๐ คน (จัดเดือนละครั้ง)
๒. กำหนดวันเข้าค่ายสุขภาพล้างพิษตับฟรี ๓ วัน เริ่มเที่ยงวันศุกร์ ออกเที่ยงวัน
     อาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน   เดือนใดที่คล่อมเดือนจะเลื่อน
     ขึ้นมา ๑ สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ชนกับวันที่ ๑ ซึ่งเป็นวันรับสมัคร
๓. สอบถาม ดูรายละเอียดที่ URL: http://k2499.blogspot.com/2012/09/3.html
     เข้าเน็ตไม่ได้ติดต่อ อ.กมล 086-244-9557 
๔. สมัครได้เฉพาะในวันที่ ๑ ของทุกเดือน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. เป็นต้นไป
     ด้วยการโทรศัพท์ไปที่.....

คุณ..ไทคุง (ชาญวิทย์ มรรคทรัพย์)

   เบอร์โทร. 086-875-0548

     ท่านจะต้องตอบข้อซักถาม ตอบข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับคุณสมบัติ ความพร้อม
     ของร่างกาย ประสบการณ์ความรู้เดิมก่อนเข้าคอร์ส หากท่านผ่านการสัมภาษณ์
     ให้ท่านเตรียมข้อมูลเลขที่บัตรประชาชน ๑๓ หลัก เพื่อจะได้บันทึกข้อมูลท่าน
     รับลงทะเบียนเข้าคอร์สต่อไป
          อนึ่งเมื่อมีสมาชิกโทรเข้าไป และมีผู้ที่ผ่านการตอบข้อซักถาม
     ครบเต็มจำนวน ๔๐ ท่านแล้ว คุณไทคุง จะงดรับโทรศัพท์ และขณะที่ช่วงรับสาย
    โทรเข้าไปสมัครนั้น ถ้าท่านโทรไม่ติด แสดงว่าสายไม่ว่าง เพราะรับโทรเพียง
    สายเดียว เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าร่วมจัดคอร์สล้างพิษตับ..แบบฟรีเพื่องานบุญ..นี้
    เป็นจำนวนมาก

ข้อกำหนดผู้สมัครเข้าค่ายล้างพิษตับ-ปรับสมดุล สูตรระยะสั้น ๓ วัน

๑. อายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี และไม่เกิน ๗๐ ปี
๒. ไม่เป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน ไต ระยะสุดท้าย โรคหัวใจที่ผ่านการทำบอลลูน หรือ
     บายพาส
๓. ไม่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูงไม่เกิน ๑๘๐/๑๐๐
๔. ไม่เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง
๕. สุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถดูแลตนเองและปฏิบัติได้ตลอดหลักสูตร ๓ วัน
๖. เคยทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้ (แบบสวนทวาร) มาก่อนแล้ว
๗. ต้องเคยทำดีท็อกซ์แบบสวนล้างลำไส้ใหญ่ด้วยตนเองมาก่อน
๘. ระหว่างเข้าค่ายหรือพักค้างในชุมชน กรุณางดสูบบุหรี่

การเตรียมตัวก่อนเข้าค่าย

๑. เข้าพื้นที่และลงทะเบียนวันแรกของการเข้าค่ายก่อนเวลา ๑๑.๐๐ น. และปิดรับ
    ลงทะเบียนเวลา ๑๓.๐๐ น.
๒. หากต้องการพักค้างในชุมชน(ที่พักเป็นเรือนนอนและห้องน้ำรวม) ให้เตรียม
    เครื่องนอนและของใช้ส่วนตัว เช่น เต้นท์ มุ้ง ผ้าห่ม เสื่อ หมอน ผ้าถุงหรือผ้า
    ขาวม้า ผ้าขนหนูผืนเล็ก ฯลฯ หากต้องการไปกลับ หรือหาที่พักเองนอกชุมชน
    ให้แจ้งในวันสมัครด้วย เพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมที่พัก
๓. เตรียมภาชนะส่วนตัว ได้แก่ แก้ว หรือถ้วยน้ำดื่ม ช้อน และขวดหรือกระบอก
    ใส่น้ำแบบพกพา
๔. เพื่อการขับพิษที่มีประสิทธิภาพ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน นมวัว เนื้อสัตว์ 
    แป้ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม งดสูบบุหรี่ และนอนหลับพัก
   ผ่อนให้เพียงพอ ก่อนเข้าค่ายอย่างน้อย ๗ วัน

  ค่าใช้จ่ายในการเข้าคอร์สล้างพิษ ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

   เพื่อสนองนโยบายสุขภาพบุญนิยมของชาวอโศก


กำหนดการล้างพิษตับ


วันที่ ๑

๑๐.๓๐ น.               รับเอกสาร ลงทะเบียน  ดื่มลิดท็อกซ์ ครั้งที่ ๑
๑๒.๐๐ น.               ปิดรับลงทะเบียน
๑๓.๐๐ น.               ปฐมนิเทศ
๑๔.๐๐ น.               เข้าที่พัก ทำดีท็อกซ์
๑๖.๓๐ น.               รวมตัวที่ศาลา     ดื่มลิดท็อกซ์ ครั้งที่ ๒
๑๗.๐๐ น.              ทำวัตรเย็น โดยท่านสมณะ
๑๘.๐๐๒๐.๐๐ น. ฟังบรรยาย         ดื่มลิดท็อกซ์ ครั้งที่ ๓

วันที่ ๒

๐๕.๓๐-๐๘.๐๐ น. พร้อมกันที่ศาลา  อมน้ำมันมะพร้าว  กายบริหาร ฟังบรรยาย
๐๘.๐๐ น.              ตักบาตรสมณะด้วยอาหารมังสวิรัติ
๐๘.๕๐ น.             เข้าร่วมกิจกรรมในศาลา ดื่มลิดท็อกซ์ ครั้งที่ ๔
๑๐.๐๐ น.              เรียนกัวซา (ปรับสมดุลร่างกาย)
๑๒.๐๐ น.              ดื่มลิดท็อกซ์ ครั้งที่ ๕  ทำดีท็อกซ์
๑๔.๐๐ น.              กิจกรรมในศาลา  แบ่งกลุ่มพบสมณะ
๑๖.๐๐ น.              ดื่มดีเกลือ
๑๗.๐๐ น.             ดื่มน้ำมันมะกอก ฟังบรรยาย
๑๙.๓๐ น.             แยกย้ายเข้าที่พัก

วันที่ ๓

๐๗.๐๐ น.            รับประทานอาหาร
๐๙.๐๐ น.            ทำดีท็อกซ์ เก็บสิ่งขับถ่ายไว้ตรวจ
๑๐.๐๐ น.            นำถังสิ่งขับถ่ายมาตรวจ
๑๑.๐๐ น.            สรุปผล เปิดใจ รับพรก่อนจาก
                           คืนสิ่งของที่ยืม รับบัตรประชาชน

คำแนะนำ วิธีดื่มลิดท็อกซ์



ลิดท็อกซ์ครึ่งช้อนแกง ผสมน้ำมะขามอุ่นๆ ชงให้เข้ากันและรีบดื่มทันที
ดื่มน้ำต้มสมุนไพร หรือน้ำเปล่าตาม เพื่อการชำระล้างลำไส้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อควรระวังสำหรับการดื่มน้ำด่าง

เนื่องจากหัวน้ำด่างมีความเข้มข้นสูง ควรผสมตามอัตราส่วนที่คณะวิทยากรแนะนำ ไม่ควรดื่มเฉพาะหัวน้ำด่าง หรือผสมเข้มข้นไป เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างมาก





การวิเคราะห์ของเสียที่ออกจากตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี ในภาชนะถังพลาสติกใส โดยใช้ไม้พายกวนก่อนวิเคระห์

๑. สิ่งที่ลอยอยู่ข้างบน คือ
     ก. นิ่วจากถุงน้ำดี มีลักษณะเป็นก้อนกลมเกลี้ยง สีเขียวมรกต สีน้ำตาล สีดำ
     ข. ไขมันจากตับ ไขมันพอกตับ และนิ่วในตับ (สีเหลือง เขียว ดำ เป็นก้อนผิวขรุขระ) เป็นคราบมันล้าง
         ออกยาก
     ค. นิ่วเม็ดทราย ลักษณะคล้ายเม็ดทราย สีเหลือง น้ำตาล ลอยบนน้ำ
๒. เซลล์เสีย (เซลล์ก่อมะเร็ง) ลักษณะเหมือนเห็ดหูหนูขาว ลอยอยู่ชั้นกลางของถัง
๓. สารบิริลูบิน (เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ) อยู่ล่างสุดก้นถัง คล้ายน้ำต้มก๋วยเตี๋ยว
๔. กลิ่นเหม็นมาก เป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ที่เน่าหมักหมมในตับ
๕. ตะกรันจากลำไส้ จมอยู่ก้นถัง รวมกับลิดท็อกซ์ที่ดีท็อกซ์ออกไม่หมด

ข้อควรปฏิบัติหลังจากล้างพิษตับ-ถุงน้ำดี

๑. ให้ระลึกเสมอว่าตนเพิ่ง "ออกจากห้องผ่าตัด" เอานิ่วออกจากร่างกาย ควรระมัดระวังการกินอยู่หลับ
     นอนให้ดี ไม่หักโหมงานหนักอย่างน้อย ๗ วัน
๒. ต้องพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ เข้านอนไม่เกิน ๒๑.๐๐ น. (อย่างน้อย ๓-๕ วัน)
๓. รับประทานอาหารอ่อน อย่างน้อย ๓ วัน (ประเภทผักต้ม แกงจืด ไม่รสจัด หลีกเลี่ยงอาหารทอด)
๔. ต้องสวนล้างลำไส้ เช้าและเย็น ต่ออีก ๗ วัน เพื่อเอานิ่วและไขมันที่ค้างในลำไส้ ออกให้หมด
๕. กินอาหารเน้นผักผลไม้ ๘๐% แป้งและโปรตีน ๒๐% (โปรตีนจากพืช) เพื่อยืดอายุให้แก่เซลล์
๖. ดื่มน้ำผลไม้คั้นสด ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้ดีเร็วขึ้น
๗. ดื่มน้ำเปล่าทุกชั่วโมงระหว่างวัน ตั้งแต่ตื่นนอน ให้ได้วันละ ๒-๓ ลิตร เป็นประจำทุกวัน
๘. รับประทานสมุนไพรบำรุงตับ เช่น ลูกใต้ใบ ขมิ้นชัน น้ำขี้กาขาว และอื่นๆ
๙. ปรับสมดุลกาย จิต ให้สงบ สวดมนต์ นั่งสมาธิ และหายใจให้ยาวเป็นปกติ
๑๐. ปฏิบัติตนตามหลัก ๘ อ. (อิทธิบาท อารมณ์ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย เอาพิษออก เอนกาย
       และอาชีพ)

ข้อควรปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการล้างพิษตับ ให้ได้ผลมากขึ้นในครั้งต่อไป

๑. ดื่มลิดท็อกซ์ (๑/๒ - ๑ ช้อนชา) ผสมกับซีเลี่ยมฮัท (๑ ช้อนโต๊ะ) ทุกวัน เช้า-เย็น เป็นการช่วยเซาะพิษ
     และดูดซับสารพิษ ที่ค้างในลำไส้ออกให้ดี การขับถ่ายจะดีขึ้น การซ่านพิษในการล้างพิษครั้งต่อไป
    จะลดลงด้วย
๒. ดื่มน้ำอัลคาไลน์ ค่า pH 8-9 แทนน้ำเปล่าตลอดวัน เพื่อปรับสมดุลเลือด และขับล้างสารพิษ
๓. ดื่มน้ำปัสสาวะช่วงเช้า วันละ ๑ แก้ว เพื่อสร้างภูมิต้านทาน (ตรวจสอบสุขภาพและพฤติกรรมการกิน
    ได้ด้วยน้ำปัสสาวะ : รสเปรี้ยว - ตับบกพร่องเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง, รสขม - หัวใจบกพร่อง, รสเค็ม - ไต
    บกพร่อง, รสจืด - คล้ายน้ำชา ดีที่สุด)
๔. ควรแช่มือ แช่เท้า และกัวซาร่วมด้วย เพื่อช่วยขับพิษออกได้หลายๆทาง
๕. กำหนดเวลาในการล้างพิษแต่ละช่วง สามารถปรับได้ตามความสะดวก ยกเว้นช่วงดื่มดีเกลือและ
    น้ำมันมะกอก ต้องตรงเวลา
๖. ความถี่ในการล้างพิษ สูตรระยะสั้นนี้สามารถทำได้ เดือนละ ๑-๒ ครั้ง

ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมประเพณี "วันเสาร์เข้าวัดฟังธรรม

ทุกวันเสาร์

๐๘.๓๐ น.  ร่วมทำบุญตักบาตร (บริเวณถนนหน้าศาลาวิหาร)
๐๙.๐๐ น. ฟังธรรม "เทศน์ก่อนฉัน"
๑๐.๐๐ น. รับประทานอาหารบุญ (มังสวิรัติ)
๑๑.๓๐ น. ร่วม "เก็บบุญ" ตามอัธยาศัย
๑๓.๐๐ น. ท่านที่มีเวลาว่างสามารถเลือกกิจกรรมบำเพ็ญบุญได้ตามความสมัครใจ
                 - สนทนาธรรม กับสมณะ
                 - เดินชมดูสถานที่ภายในชุมชนสีมาอโศก
                 - ช่วยงานตามฐานงานต่างๆ หรือจะเรียนรู้สอบถามพูดคุยกับฐานงานที่
                   ท่านสนใจ