วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมของชาวอโศก

     คำว่า "วัฒนธรรม" เป็นนามธรรม เป็นพฤติกรรม เป็นพฤติภาพ ที่ดีงามของสังคมมนุษย์ ในกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชาวอโศกก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เป็นอัตลักษณ์(พึ่งตน จนผู้อื่นพึ่งได้) และเอกลักษณ์(ทำดี มีธรรม) เฉพาะตนของชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า "ชาวอโศก" ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความผาสุขในสังคมไทย สมาชิกในชุมชนจะลดความเห็นแก่ตัว จะเสียสละ ซึ่งเรียกว่า "บุญ" จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านวัฒนธรรมของโลก เรียกว่า "วัฒนธรรมแบบบุญนิยม" ซึ่งสวนทางกับกระแสหลักของชาวโลกที่เป็น "วัฒนธรรมแบบทุนนิยม" และกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้ในยุคนี้
     ลักษณะที่เด่นชัดของสังคมชาวอโศก คือ มีอุดมการณ์ของตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า เคร่งครัดในศีลธรรม โดยมีความศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระสัทธรรม มีพ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
พ่อครูหรือพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เป็นผู้แสดงธรรมถ่ายทอดอธิบายธรรมในแนวโลกุตรธรรม มุ่งเน้นให้ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมได้มรรคผลเป็นอริยบุคคล เป็นผู้มีลักษณะบุคลิกภาพขั้นต่ำ คือ "ถือศีล ๕  ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ" มีอุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ประหยัดเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเอง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณโภคี  คือ ผลผลิตมวลรวมทั้งชุมชนของสมาชิกแต่ละคน  นำมารวมกันเป็นสมบัติกองกลาง เป็นของส่วนกลาง มีคณะผู้รับใช้เป็นกรรมการชุมชน มีสมณะ สิกมาตุ นักบวชของชาวอโศก เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นปุโรหิต ร่วมประชุมวางแผน กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนไปตามแนวทางอุดมคติ อุดมการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น ทรัพย์สมบัติที่พอช่วยเหลือสังคมข้างนอกชุมชนได้ก็จะพยายามสะพัดออกไป เช่น การจัดตลาดอาริยะ คือขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุน(ขาดทุนคือกำไร หรือบุญของเรา)

การตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติเป็นศิลปอันติมะ ของชาวอโศก  

วัฒนธรรมบุญนิยมของชาวอโศก แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

๑. วัฒนธรรมด้านองค์กรของชาวอโศก

      สถาบันบุญนิยม เป็นองค์กรสูงสุดของชาวอโศก ได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย มีธรรมนูญของสถาบัน ประกอบด้วยคณะทำงาน ๒ สภา คือ
     ๑. สภาของนักบวช ประธานสภาของนักบวช คือ พ่อครูหรือพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ โดยมีสมณะปัจฉา เป็นคณะเลขานุการ
     ๒. สภาของฆราวาส ประธานสภาของฆราวาสคือ นายธำรงค์ แสงสุริยะจันทร์ โดยมี นายข้าพุทธ ขาวดารา เป็นเลขานุการ คณะกรรมการมาจากผู้แทน ๑๒ องค์กรของชาวอโศก องค์กรละ ๑ ท่าน และผู้แทนแม่ข่ายชุมชนชาวอโศก จากพุทธสถาน และสังฆสถาน อีก ๙ ท่าน
     สำนักงานของสถาบันบุญนิยม ตั้งอยู่ที่ ชั้น ๓ ตึกพลังบุญ  ซอย ๔๘ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร    
     หน้าที่ของสถาบันบุญนิยม มีหน้าที่กำหนดนโยบายของชาวอโศก การขับเคลื่อนนโยบาย การกำกับติดตามผลการปฏิบัติ มีองค์กรย่อยที่ขึ้นตรงต่อสถาบันบุญนิยม ๑๒ องค์กร ดังนี้

          ๑. ศาสนาบุญนิยม ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม ชมรม ต่างๆ ของชาวอโศก
          ๒. ชุมชนบุญนิยม ได้แก่ ชุมชนบุญนิยมที่เป็นแม่ข่ายหลักของชาวอโศก ๙ แห่ง
          ๓. การศึกษาบุญนิยม ได้แก่ โรงเรียนสัมมาสิกขา มหาลัยวังชีวิต(มวช.ศีล๘) วิทยาลัยบรรดาบัณฑิตบุญนิยม (วบบบ.)
          ๔. บริโภคบุญนิยม ได้แก่ ร้านอาหารชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย โรงครัวกลางของชุมชน
          ๕. พาณิชย์บุญนิยม ได้แก่ ร้านค้าของชาวอโศก ตั้งอยู่ในชุมชนบุญนิยมของชาวอโศก
          ๖. กสิกรรมบุญนิยม ได้แก่ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย
          ๗. อุตสาหกิจบุญนิยม ได้แก่ โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ โรงงานยาสมุนไพร โรงซ่อมเครื่องจักรเครื่องกลหนัก
          ๘. การเมืองบุญนิยม ได้แก่ พรรคเพื่อฟ้าดิน ตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ มีอุดมการณ์ของพรรค คือ "เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศเป็นไท" น.ส.ขวัญดิน สิงห์คำ เป็นหัวหน้าพรรค เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นเลขาธิการพรรค
          ๙. ศิลปวัฒนธรรมบุญนิยม ได้แก่ ประเพณีการบวชของชาวอโศก ประเพณีการตักบาตรทำบุญด้วยอาหารมังสวิรัติ ประเพณีการเผาศพ วัฒนธรรมการแต่งกายแบบพื้นบ้าน นิยมความเป็นไทย การทักทายด้วยคำว่า "เจริญธรรม", "สำนึกดี"  วัฒนธรรมการแยกขยะ
        ๑๐. สื่อสารบุญนิยม ได้แก่ โรงพิมพ์วารสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ สื่อบันทึกเท็ป ดีวีดี สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV )
       ๑๑. สุขภาพบุญนิยม ได้แก่ ศาลาสุขภาพ การดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง สมุนไพรไทย
       ๑๒. สถาบันขยะวิทยาด้วยหัวใจ ได้แก่ การรับบริจาคสิ่งของ การคัดแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ (For Mankind Television : FMTV ) ตามโครงการ "ดินอุ้มดาว"

๒. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างทางสังคม ชุมชนชาวอโศก (Social Organization)

ประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน
๑. บ้านหรือชุมชน ประกอบด้วยผู้คนที่ปฏิบัติศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ละอบายมุข ทานอาหารมังสวิรัติ
๒. วัดหรือพุทธสถาน ประกอบด้วย นักบวชชาย เรียกว่า "สมณะ " แปลว่าผู้สงบระงับจากกิเลส และนักบวชหญิง เรียกว่า "สิกขมาตุ" แปลว่านักศึกษาฝ่ายหญิง ปฏิบัติศีล ๑๐
๓. โรงเรียน ประกอบด้วย เด็กนักเรียน ตาม พ.ร.บ.การศึกษาสงเคราะห์ ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา มีคุรุ หรือครูผู้สอนที่ไม่มีเงินเดือน นักเรียนกินอยู่ฟรี ไม่มีค่าเล่าเรียน แบบอยู่พักค้างประจำ ระบบการจัดการศึกษา เป็นแบบตามอัธยาศัย เป้าหมายการศึกษาเน้นตามความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน มีปรัชญาการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" ปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา "ศีลเต็ม เข้มงาน สืบสานวิชา"

๓. วัฒนธรรมด้านโครงสร้างเครือข่าย หรือเครือแหของชาวอโศก (Asoke Social Network) 

ประกอบด้วยชุมชนที่เป็น  พุทธสถาน ชาวชุมชน และโรงเรียน ๗ แห่ง ได้แก่
   ๑) พุทธสถานสันติอโศก ๖๕/๑ ซ.เทียมพร ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐  โทร.๐๒-๓๗๔-๕๒๓๐
   ๒) พุทธสถานปฐมอโศก ๖๖ หมู่ ๕ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ โทร.๐๓๔-๒๕๘๔๗๐-๑
   ๓) พุทธสถานศาลีอโศก ๑๑๖ หมู่ ๓ ต.โคกเดื่่อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ๖๐๒๒๐ โทร. ๐๕๖-๒๕๙๒๑๗
   ๔) พุทธสถานศีรษะอโศก ๒๘๗ หมู่ ๑๕ ต.กระแซง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ๓๓๑๑๐ โทร. ๐๔๕-๖๓๕๗๖๗
   ๕) พุทธสถานสีมาอโศก ๙๔ หมู่ ๕ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราสีมา ๓๐๐๐๐ โทร. ๐๔๔-๒๑๒๗๙๗
   ๖) พุทธสถานราชธานีอโศก หมู่ ๑๐ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐ โทร.๐๔๕-๒๔๗๒๒๒
   ๗) พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ๓๑/๑ หมู่ ๕ บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๕๐ โทร. ๐๕๓-๒๒๘๕๕๗-๙
และชุมชนที่เป็น สังฆสถาน และชาวชุมชน  ๒ แห่ง ได้แก่
  ๑) สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ ๒๖๖ หมู่ ๑ ซ.สุขาภิบาล ๕ ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ๓๖๑๕๐ โทร.๐๔๔-๘๑๐๐๙๕
  ๒) สังฆสถานทะเลธรรม ๔๑ หมู่ ๓ ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ๙๒๐๐๐ โทร.๐๗๕-๒๒๖๑๙๖
และชุมชนชาวอโศกที่ไม่มีนักบวชอยู่ประจำ ๒๐ กว่าแห่งทั่วประเทศไทย

๔. วัฒนธรรมด้านการเงิน 

ชาวอโศก มีระบบการจัดการด้านการเงิน คือ สมาชิกชาวชุมชนแต่ละคนจะไม่ก่อหนี้ หรือเป็นหนี้ใดๆทั้งสิ้น ถ้ามีเงินสดเป็นการส่วนตัว(ผู้ที่ปฏิบัติ ศีล ๕ ศีล ๘) ก็ให้นำไปฝากเป็นเงินกองบุญของชุมชน จะไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่จะได้รับดอกบุญ เพื่อชุมชนจะได้นำ ๖๐ % ของเงินกองบุญนี้ ไปเป็นทุนใช้หมุนเวียนในกิจการฐานงานต่างๆ  นอกจากนี้ยังมีระบบ "เงินเกื้อ" และ "เงินหนุน" โดยไม่คิดดอกเบี้ยแก่สมาชิกในชุมชนที่มีความจำเป็น (เงินเกื้อ คือ ขอยืมเงิน เงินหนุน คือ ให้ยืมเงิน)

๕. วัฒนธรรมด้านเศรษฐกิจ

 ยึดหลักเศรษฐกิจแบบบุญนิยม คือ "เศรษฐกิจบุญนิยม คนจนรู้จักพอ แต่เศรษฐกิจทุนนิยม คนรวยไม่รู้จักพอ" มีจุดเน้นนโยบายใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง ในขั้นสาธารณะโภคี คือ ทำงานเสียสละ ๑๐๐ % (เสียภาษี ๑๐๐%) ผลตอบแทน ผลผลิตทั้งหมดนำเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ทุกคนจะมีฐานะยากจนเท่าเทียมกัน แต่ระบบทรัพยากรส่วนกลางจะมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีสมบัติส่วนกลางมากมาย เช่น ร้านค้า ที่ดินทำไร่ ที่ดินทำนา ที่ดินทำสวน มีเครื่องจักรกล มีพาหนะรถยนต์ เรือต่างๆ เครื่องทุ่นแรง มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงสีข้าวขนาดใหญ่ มีระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสารคมนาคม มีเครื่องมือสื่อสาร สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชนผ่านดาวเทียม (FMTV) มีโรงพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถ้าสมาชิกที่เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนปฏิบัติได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ ถือศีล ๕ ละอบายมุข ๖ ทานอาหารมังสวิรัติได้เป็นปกติ ทำงานให้กับส่วนกลางทั้งหมด เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ เดือน จะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการจากระบบสาธารณโภคีฟรี

๖. วัฒนธรรมด้านชุมชนบุญนิยม

ชุมชนบุญนิยมชาวอโศก เป็นชุมชนนักปฏิบัติธรรมที่เน้นการพึ่งตนเอง ผู้ที่เป็นสมาชิกชุมชนต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานคือ "ถือศีลห้า ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ" การปลูกบ้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นเขต ตามปฏิปทาที่ได้สมาทานศีล ได้แก่ 
     เขตฆราวาสปฏิบัติศีล ๕ อยู่ในที่ดินของส่วนกลางของมูลนิธิ หรือสมาคม
     เขตคนวัดปฏิบัติศีล ๘ อยู่ในที่พักส่วนกลางภายในตามฐานงานต่างๆ เช่น โรงครัวกลาง
     เขตนักบวชหญิง(สิกขมาตุ)ปฏิบัติศีล ๑๐ อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสิกขมาตุ
     เขตนักบวชชาย(สมณะ)ปฏิบัติศีลปาฏิโมกข์(จุลศีล มัฌิมศีล และมหาศีล) อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเขตกุฏิสมณะ
อาคารสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนกลางสมาชิกในชุมชนมีส่วนไปใช้ร่วมกัน ได้แก่
     ๑. ศาลาฟังธรรม
     ๒. โรงครัวกลาง
     ๓. ศาลาสุขภาพ
     ๔. โรงซ่อม โรงเครื่องมือ โรงจอดรถยนต์
     ๕. ห้องสมุด
     ๖. ห้องน้ำรวม แยกชาย-หญิง
     กิจกรรมสำคัญที่สมาชิกในชุมชนควรได้มาพบปะกัน(Social Interaction) ได้แก่
     ๑. ๐๓.๔๕-๐๕.๓๐ น. สวดมนต์ฟังธรรม ที่ศาลาฟังธรรม
     ๒. ๐๖.๐๐-๐๘.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ
     ๓. ๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น. วันเสาร์ ตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ หน้าศาลาฟังธรรม
     ๔. ๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ฟังธรรมก่อนฉันภัตตาหาร  ที่ศาลาฟังธรรม และรับประทานอาหารร่วมกัน
     ๕. ๑๓.๐๐-๑๕.๓๐ น. ลงฐานงานสัมมาอาชีวะ 
     ๖. ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น สำหรับเด็ก และผู้รับประทานอาหาร ๒ มื้อ(ศีล ๕) ที่โรงครัวกลาง
     ๗. ๑๘.๐๐-๒๐.๐๐ น.ชมรายการผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม FMTV
     ๘. ประชุมประจำเดือนชาวชุมชน เดือนละ ๑ ครั้ง



5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 มกราคม 2556 เวลา 15:04


    อยากเข้ามาเป็นสมาชิกควรติดต่อและปฏิบัติอย่างไร

    ตอบลบ
  2. ให้ทดลองเข้าไปอยู่เป็นอาคันตุกะจร ๓ เดือน โดยต้องปฏิบัติให้ผ่าน ๓ เรื่อง คือ ๑. ปฏิบัติศีลห้า ๒. ทานอาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ ๓. ไม่มีอบายมุข

    ตอบลบ
  3. อาคันตุกะจร คือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของอโศก แต่ไม่ได้พักค้างอยู่ประจำ มีการไปวัด ร่วมประชุมและไปงานประจำปีของชาวอโศก ได้แก่งานปลุกเสก งานพุทธา

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2556 เวลา 15:31

    ้้
    อะไรก็ปฏิบัติได้ แต่การที่จะต้องเดินทางไปร่วมงาน
    ปลุกเสกหรืองานอื่นๆ บางครั้งบางจังหวะปลีกตัวไปได้
    ยากมากๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ ขอคำแนะนำด้วย
    ครับว่าควรจะปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง ทุกวันนี้พยายาม
    ปฏิบัติศีล ๕ ไม่มีอบายมุข ทานมังฯเกือบ ๑๐๐ %

    ตอบลบ
  5. พยายามเข้าหาหมู่กลุ่มชาวอโศกเท่าที่มีโอกาสนะครับ ที่ใดก็ได้ครับ และติดตามรายการข่าวสารของชาวอโศก เช่น fmtv

    ตอบลบ